“กรมบัญชีกลาง” ผนึก “กรุงไทย” พัฒนาระบบ e-bidding เชื่อมโยงผ่านบล็อกเชน ลบคำครหาข้อมูลราคารั่วไหล



นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมบัญชีกลางกับธนาคารกรุงไทย โครงการ e-GP Transformation for Thailand’s Future : ติดปีกธุรกิจไทย ก้าวไกลสู่อนาคตโดยมุ่งเน้นเพื่อพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเซน มาช่วยเพิ่มความโปร่งใส และมีความปลอดภัยในการเสนอราคาด้วยวิธี e-bidding ซึ่งจะเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้เสนอราคาว่าไม่มีใครสามารถเข้าถึงการเสนอราคาได้ จนกว่าจะสิ้นสุดการเสนอราคา จึงจะเปิดเผยผลการเสนอราคาได้

“การนำระบบดังกล่าวมาใช้ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการเข้ามาเป็นผู้ค้ากับภาครัฐ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินในรูปแบบกิจิทัลจากภาคธนาคารได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการรายเล็กในการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากขึ้น” นายอาคม กล่าว

นอกจากนี้ ระบบ e-GP ยังได้นำระบบการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังมาช่วยยืนยันตัวเพื่อเพิ่มความรวดเร็วให้กับเอกชนในขั้นตอนการลงทะเบียนเป็นผู้ค้ากับภาครัฐ สามารถลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และสร้างมาตรฐานการบริการภาครัฐ โดยระบบดังกล่าวนี้ จะเริ่มใช้เดือน ต.ค.2565 นี้ เป็นต้นไป 

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยวิธี e-bidding ทั้งของราชการรัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องเข้าสู่ระบบ e-GP เท่านั้น เพื่อความโปร่งใสและลบคำครหาการเปิดเผยราคาก่อนการประมูลสิ้นสุด รวมถึงระบบนี้จะช่วยให้ภาครัฐ ประหยัดงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยตั้งเป้าว่าจะประหยัดงบประมาณได้ 10% ยกตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมามีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยวิธี e-bidding คิดเป็นเงิน 640,000 ล้านบาท หากคิดเป็น 10% ก็จะช่วยประหยัดงบภาครัฐได้ถึง 64,000 ล้านบาท 

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาสนับสนุนการทำงานของกรมบัญชีกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจเข้าถึงระบบจัดซื้อจัดจ้างอย่างสะดวก รวดเร็วโปร่งใส และช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี)​ ที่เป็นผู้ค้าภาครัฐกว่า 300,000 ราย ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินมากขึ้น ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่ระบบ e-bidding ภาครัฐจะมีการเชื่อมข้อมูลการเป็นคู่สัญญาสู่ระบบมาตรฐาน ยกระดับการทำธุรกรรมการค้ากับภาครัฐให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลอย่างครบวงจรต่อไป