กรมบัญชีกลาง กำหนดแนวปฏิบัติคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างใหม่



  • เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใส
  • เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

 นายภูมิศักดิ์  อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันการกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอและการกำหนดผลงานในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีปัญหาในการกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะหรือยี่ห้อของวัสดุที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้าง เนื่องจากวัสดุบางประเภทยังไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกำหนดไว้ และบางกรณีพบว่าหน่วยงานของรัฐ กำหนดเงื่อนไขบางประการที่ก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ยื่นข้อเสนอด้วยกัน ซึ่งมีผลให้การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์หรือคณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีคัดเลือกของแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกัน จึงทำให้เกิดปัญหาในการอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างหรือเกิดข้อร้องเรียนตามมา 

ดังนั้นคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (คณะกรรมการวินิจฉัย) จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติกรณีดังกล่าวใหม่ ดังนี้ 1.การกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ  กรณีงานจ้างก่อสร้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยงานของรัฐกำหนดคุณสมบัติตามแบบประกาศและเอกสารเชิญชวนตามแบบที่คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ(คณะกรรมการนโยบาย) กำหนด  กรณีงานจ้างก่อสร้างที่มีวงเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย 

ส่วนการกำหนดผลงานก่อสร้าง ให้กำหนดได้ไม่เกิน 50% ของวงเงินงบประมาณหรือวงเงินที่ประมาณการที่จะจ้างก่อสร้างในครั้งนั้น โดยผลงานต้องเป็นสัญญาเดียวที่ผู้รับจ้างทำงานแล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งมีการส่งมอบและตรวจรับเรียบร้อยแล้ว โดยการกำหนดรายการวัสดุที่จะนำมาใช้ในงานก่อสร้าง เช่น สี กระเบื้อง ยาง วัสดุฝ้าเพดาน สุขภัณฑ์ เป็นต้น กรณีมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือมาตรฐานที่หน่วยงานของรัฐอื่นที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกำหนด ให้ระบุมาตรฐานนั้นได้

2. แนวทางการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ กรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอได้เสนอรายละเอียดแตกต่างไปจากเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนดไว้ในประกาศและเอกสารเชิญชวน หรือหนังสือเชิญชวนดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยและให้พิจารณาผ่อนปรนโดยไม่ตัดสิทธิ์ผู้ยื่นข้อเสนอรายนั้น 

“การกำหนดแนวทางปฏิบัติกรณีดังกล่าวนั้น เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐมีความโปร่งใส เป็นไปในแนวทางเดียวกัน  และลดปัญหาในการอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างหรือข้อร้องเรียนต่างๆ และเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน”