นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.)เปิดเผยว่า ขนส่งทางรางได้ดำเนินการ รศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการ และการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-license R) ซึ่งเป็นโครงการที่ขนส่งทางรางจะดำเนินการออกใบอนุญาตผู้ประกอบกิจการขนส่งทางราง ใบอนุญาตพนักงานขับรถไฟและผู้ประจำหน้าที่ ตลอดจนการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง เพื่อให้สอดคล้องตามร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการดำเนินการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล กรมการขนส่งทางรางจึงได้มีการศึกษารูปแบบการกำกับดูแลระบบรางของประเทศต่างๆ เพื่อนำมาเป็นองค์ความรู้ และเป็นแนวทางในการนำมาปรับใช้กับระบบขนส่งทางรางของไทย
โดยกรณีการศึกษา ล่าสุดขนส่งทางรางได้มีการศึกษาระบบรางของไต้หวัน ซึ่งพบว่าไต้หวันได้มีการแบ่งประเภทหน่วยงานกำกับดูแลออกเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย 1. ระบบขนส่งทางรางระหว่างเมือง ซึ่งมีผู้ให้บริการสองรายประกอบด้วย รถไฟระหว่างเมือง และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งมีการกำกับดูแลโดย Railway Bureau (กรมการขนส่งทางรางของไต้หวัน) โดยในไต้หวัน เจ้าหน้าที่ขับรถไฟ จะต้องมีอายุขั้นต่ำ 18 ปี ผ่านการฝึกอบรมอย่างน้อย 2 ปี สำหรับรถไฟระหว่างเมือง 8 เดือน จากนั้นจึงเข้ารับการทดสอบและภาคปฏิบัติจากเพื่อขอรับใบอนุญาต โดยใบอนุญาตจะมีอายุ 6 ปี และต้องสอบใหม่ ในส่วนของการบำรุงรักษารถขนส่งทางราง ผู้ให้บริการเมื่อสั่งซื้อรถมาแล้วจะมีการขออนุมัติแผนการบำรุงรักษาจาก Railway Bureau และ Railway Bureau และจะมีการสุ่มตรวจสอบเป็นระยะ
2. ในส่วนของระบบรถไฟฟ้าในเมือง ก่อนจะประกอบกิจการขนส่งทางรางจะต้องได้รับใบอนุญาตจาก Transport Bureau และบุคลากรที่ปฏิบัติงานในศูนย์ควบคุมการเดินรถหรือพนักงานขับรถจะต้องได้รับการฝึกอบรม และการทดสอบ ทั้งนี้ โครงการศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการ และการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล จะทำการศึกษาแนวทางการกำกับดูแลของประเทศต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อนำมาประกอบการพัฒนาระบบขนส่งทางรางต่อไปในอนาคต