- ประชาชนแห่ซื้อดันความต้องการใช้เพิ่มเป็น5เท่า
- โรงงาน11แห่งผลิตทั้งวันทั้งคืนได้แค่วันละ1.35ล้านชิ้น
- ส่งรถคาราวานขายตรงสู่ประชาชนทั่วประเทศวันละ111คัน
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงสถานการณ์หน้ากากอนามัยในขณะนี้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้หน้ากากอนามัยในประเทศขาดแคลน เพราะความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าของกำลังการผลิต ที่ผลิตได้วันละ 1.35 ล้านชิ้น ซึ่งมาจากประชาชนตื่นตระหนกในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกมากจนเกินไป และซื้อหน้ากากอนามัยใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อให้ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ก่อนได้ใช้อย่างเพียง โดยเฉพาะโรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์
สำหรับการผลิตหน้ากากอนามัยนั้น ขณะนี้ มีโรงงานผลิตทั้งหมด 11 แห่ง มีกำลังการผลิตวันละ 1.35 ล้านชิ้น และเดินเคร่ืองผลิตตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีความต้องการมากถึง 5 เท่า จากเดิมที่ยังไม่มีการระบาดของโควิด-19 ต้องการใช้เพียงเดือนละ 30 ล้านชิ้น และที่ผ่านมา มีการนำเข้าเดือนละ 20 ล้านชิ้น แต่ปัจจุบัน ไม่ได้นำเข้าเลย เพราะประเทศผู้ส่งออก อย่างจีน ห้ามการส่งออกโดยเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอปันส่วนแบ่งการผลิตจากโรงงานมาวันละ 600,000 ชิ้นเพื่อมาไว้ที่ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย เพื่อกระจายผ่านองค์การเภสัชกรรมไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ วันละ 200,000 ชิ้นและผู้ผลิตส่งให้กับโรงพยาบาลโดยตรงอีกวันละ 150,000 ชิ้น รวมเป็น 350,000 ชิ้น, บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) วันละ 18,000 ชิ้น, สมาคมร้านขายยาย วันละ 25,000 ชิ้น เพื่อส่งต่อไปให้ร้านขายยาสมาชิก 3,000 แห่งทั่วประเทศ ส่วนที่เหลือกระจายผ่านร้านธงฟ้าทั่วประเทศกว่า 1,400 แห่ง รวมถึงร้านสะดวกซื้อต่างๆ ทั้งเซเว่น–อีเลฟเว่น, มินิ บิ๊กซี, โลตัส เอ็กซ์เพรส, แฟมิลี่มาร์ท โดยจำกัดการซื้อไม่เกินคนละ 4 ชิ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมฯ จัดรถคาราวานออกจำหน่ายหน้ากากอนามัยทั่วประเทศ รวม 111 คัน แยกเป็นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 21 คัน และในต่างจังหวัด 90 คัน จะไปทุกจังหวัด ซึ่งถือเป็นช่องทางใหม่ที่เพิ่มเข้ามา โดยรถแต่ละคันจะมีหน้ากากอนามัยประมาณ 1 หมื่นชิ้น จะหมุนเวียนออกจำหน่ายให้ทั่วถึงแต่ละชุมชน จำหน่ายให้ประชาชนคนละไม่เกิน 1 แพ็คๆ ละ 4 ชิ้น ราคาชิ้นละ 2.50 บาท หรือแพ็คละ 10 บาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 5 มี.ค.63 และก่อนที่จะออกไปในแต่ละชุมชน จะแจ้งรายละเอียดผ่านเว็บไซต์ของกรมฯ ก่อนที่จะออกเดินทางด้วย เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัวรอซื้อ
“ถ้ากระทรวงพาณิชย์ ไม่จัดสรรปันส่วนหน้ากากอนามัย ประชาชนจะไม่สามารถหาซื้อได้เลย แต่อยากขอความร่วมมือประชาชน ต้องยึดหลัก “เทใจให้กัน แบ่งปันกันใช้” เพราะหากซื้อเยอะ เวียนซื้อ หรือซื้อไปกักตุน จะทำให้คนข้างหลังไม่ได้ซื้อ เพราะความจริงในปัจจุบัน ความต้องการเพิ่มขึ้นมากจนผลิตแทบไม่ทัน และวัตถุดิบสำคัญ อย่าง ฟิลเตอร์(แผ่นกรองเชื้อโรค) ที่นำเข้าจากจีน ขณะนี้ จีนไม่ให้ส่งออก จึงต้องไปนำเข้าจากอินโดนีเซียแทน และราคาสูงขึ้นมากแต่ยืนยันว่า หน้ากากอนามัยในส่วนที่กรมดูแล คือ กระจายไปสู่ประชาชน จะสามารถซื้อได้แผ่นละ 2.50 บาท ส่วนที่โรงพยาบาลบอกไม่เพียงพอ ก็ต้องไปถามกระทรวงสาธารณสุข เพราะแบ่งหน้าที่กันชัดเจนแล้วว่า กระทรวงพาณิชย์จะดูแลประชาชน และกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลโรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์”
ส่วนหน้ากากอนามัย ที่ยังเหลือในระบบอีกวันละ 750,000 ชิ้นนั้น โรงงานเอาไปทำการค้าปกติ คือ ขายให้กับลูกค้าของโรงงานได้อยู่แล้ว ซึ่งในส่วนนี้ กรมไม่ทราบข้อมูลว่าโรงงานขายให้ใครบ้าง และที่เห็นว่า มีการขายในอินเตอร์เน็ต และสื่อโซเชียลต่างๆ นั้น น่าจะมาจากส่วนของโรงงาน อย่างไรก็ตาม วันที่ 2 มี.ค.63 นายจุรินทร์ ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งโรงงานผลิต 11 แห่ง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ มหาวิยาลัยที่มีโรงพยาบาลอยู่ในความดูแล สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เป็นต้น มาหารือเรื่องการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยให้เพียงพอ โดยเฉพาะการบริหารจัดหน้ากากอนามัยในส่วน 750,000 ชิ้นแล้ว