กรมการขนส่งทางราง มั่นใจต้นปีหน้า พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ คลอด หวังช่วยให้เข้ามากำกับคุมราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่ให้แพง ผู้ใช้ระบบรางได้รับความเป็นธรรม พร้อมเดินหน้าออกไลเซน “เอกชนที่รับสัมปทาน-คนขับรถไฟ-ทะเบียนตู้รถไฟ” ยอมรับไทยขาดแคลนบุคลากรระบบรางกว่า 30%
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ที่จะมีผลบังคับใช้เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางดำเนินการให้มีความเหมาะสม เป็นธรรมแก่ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯอยู่ในขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะผ่านสภาฯและมีผลบังคับใช้ได้น่าจะเป็นต้นปีหน้าภายหลังจากที่ได้ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เสนอเข้าสภาอีกครั้ง ซึ่งข้อดีของ ร่าง พ.ร.บ.จนส่งทางรางดังกล่าว หากกระทรวงคมนาคม โดย กรมการขนส่งทางราง นำมาประกาศมีผลบังคับใช้จะช่วยในการควบคุมราคาค่าโดยสารขนส่งในระบบรางทั้งหมด ให้มีอัตราการคำนวณที่เป็นธรรม และ เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ ขณะเดียวกันจะเข้ามากำกับดูแลผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานรถไฟฟ้า และ ออกใบอนุญาติ ทั้ง รถไฟ รถไฟฟ้า และ คนขับรถไฟทั้งหมด ในระบบ
ทั้งนี้จากที่ประเทศไทยได้มีการขยายโครงข่ายคมนาคมขนส่งระบบรางทั่วประเทศ ทั้ง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง หลายเส้นทางคาดว่าในอีก 3-5ปีข้างหน้า บุคลากรในระบบรางจะขาดแคลนอย่างมากไม่ต่ำกว่า 30%จากที่มีอยู่ โดยในปัจจุบันในระบบราง มีพนักงานขับรถไฟ รถไฟฟ้า กว่า 3,000 คน ซึ่งในส่วนนี้เป็นพนักงานของรถไฟ 1,250 คน ดังนั้นในหลายๆสถานการศึกษาจึงได้ให้ความสำคัญที่จะผลิตบุคคลากรทางด้านนี้
นอกจากนั้นเมื่อ พ.ร.บ. ขนส่งทางรางฯ มีผลบังคับใช้ ขร. ยังมีหน้าที่ที่จะต้องออกใบอนุญาตใน 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.ใบอนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งจะออกให้กับเอกชนที่ได้รับสัมทานในรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ 2.ใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ รถไฟ รถไฟฟ้า (คนขับรถไฟ รถไฟฟ้า) และ 3.ใบจดทะเบียนรถขนส่งทางรางตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีพนักงานขับรถไฟ รถไฟฟ้าที่จะต้องได้ไลเซ่นกว่า 2,000 คน ส่วนขบวนรถที่ต้องตรวจสอบก่อนออกทะเบียนรวมกว่า 10,200 ตู้ ซึ่งใบไลเซนคนขับจะมีอายุ 5 ปี ส่วนขบวนรถมีอายุ 8 ปี
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการที่ ขร. ออกใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง และใบอนุญาตอื่นๆ ตามที่กฎหมายนี้กำหนด จะส่งผลดีดังนี้ 1. เกิดความปลอดภัยในการใช้บริการระบบรางมากยิ่งขึ้น เพราะจะต้องผ่านข้อกำหนดและมาตรฐานต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ 2. ผู้ใช้บริการะบบขนส่งทางรางเกิดความเชื่อมั่น และมั่นใจได้ว่าผู้ประกอบการมีศักยภาพในการดำเนินการให้บริการทั้งทางด้านเศรษฐศาสตร์และวิศวกรรม บุคลากรของผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางมีคุณลักษณะและความรู้ที่เหมาะสมต่อการเป็นผู้ประจำหน้าที่และรถขนส่งทางรางมีสภาพที่พร้อมที่จะให้บริการขนส่งทางราง 3. ภาครัฐสามารถกำหนดราคาที่เป็นธรรมสำหรับการใช้บริการระบบขนส่งทางราง 4. ผู้โดยสารจะได้รับการคุ้มครองจากผู้ให้บริการ เช่น มาตรการชดเชยในกรณีที่มีอุบัติเหตุหรือมีเหตุให้ล่าช้า 5. ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ในระบบราง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคา การบริการ เป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการ