กยศ.ชี้เห็นสัญญาณชะลอจ่ายหนี้ เผยลูกหนี้รอความชัดเจน พ.ร.บ.กยศ.ใหม่ เคาะลดเบี้ยปรับ-ดอกเบี้ย หรือไม่?

  • เผยปัจจุบันยอดจ่ายหนี้ด้วยตนเองมีอัตราชำระลดลง
  • จากเดิมที่มียอดชำระวันละ 50 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือวันละ 10 ล้านบาท
  • ลั่นดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่จัดเก็บในปัจจุบัน อยู่ในอัตราที่ความเหมาะสมแล้ว
  • พร้อมจัดอันดับสถานศึกษาที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด 25 อันดับแรก
  • พบส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยมหาวิทยาลัยพะเยา ขึ้นแท่นชำระหนี้ดีสุด
  • ชี้มีมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับคือ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)​ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กยศ.ได้เห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมในการจ่ายเงินคืน กยศ. เนื่องจากผู้กู้ยืมกำลังอยู่ในช่วงรอความชัดเจนของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)​ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในสมาชิกวุฒิสภาในช่วงเดือน พ.ย.นี้ ว่าจะมีการลดเบี้ยปรับ และลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมหรือไม่

ทั้งนี้ ปัจจุบันการจ่ายหนี้ กยศ. มีช่องทางรับชำระ 2 ทาง คือ 1.การหักจากบัญชีลูกจ้าง ซึ่งเป็นการร่วมมือกับสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ในส่วนนี้ยอดไม่ลดลง 2.การจ่ายหนี้ด้วยตัวเอง มีอัตราชำระลดลง จากเดิมที่มีการชำระหนี้วันละ 50 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเหลือเพียงวันละ 10 ล้านบาทเท่านั้น 

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า ตามกฎหมายได้กำหนดให้ กยศ. เรียกเก็บเบี้ยปรับได้ไม่เกิน 1% และดอกเบี้ยไม่เกิน 2% แต่ในปัจจุบัน กยศ. ได้เรียกเก็บทั้งดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ในอัตราที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนดไว้คือที่ 1% จึงมองว่าดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่จัดเก็บในปัจจุบัน อยู่ในอัตราที่ความเหมาะสมแล้ว 

นอกจากนี้ ในส่วนลูกหนี้ที่ถูกฟ้องเนื่องจากผิดชำระหนี้ ปัจจุบัน กยศ.ชะลอการฟ้องอยู่ที่ประมาณ 180,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เข้ามาทำการไกล่เกลี่ยแล้วจำนวน 140,000 คน ซึ่งจากนี้ก็จะเปิดไกล่เกลี่ยหนี้ที่ กยศ.ทุกแห่ง เพื่อให้ลูกหนี้สามารถเข้ามาไกล่เกลี่ยหนี้ได้ง่ายขึ้น

นายชัยณรงค์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกลุ่มที่ผิดนัดชำระหนี้แบ่งออกไป 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มยากจน 2.กลุ่มที่ขาดวินัยทางการเงิน และ 3.กลุ่มที่ไม่มีจิตสำนึก เช่น มีเงินอยู่ในบัญชีธนาคารแต่ไม่ยอมจ่าย เป็นต้น 

นอกจากนี้ ปัจจุบัน กยศ.มีทรัพย์สิน 370,000 ล้านบาท รับชำระหนี้อยู่ปีละ 30,000 ล้านบาท และปล่อยกู้ปีละ40,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีรายได้จากเบี้ยปรับและดอกเบี้ยปีละ 3,000 ล้านบาท รวมเป็น 6,000 ล้านบาทสำหรับผลการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียน นักศึกษา ได้รับอนุมัติให้กู้ยืมจำนวน 638,132 ราย รวมเป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 38,879 ล้านบาท 

“ในอนาคตอีก 5 ปี ข้างหน้า (2566-2570) กยศ.จะมีรายจ่ายแน่นอนประมาณ 200,000 ล้านบาท ขณะที่รายรับนั้นได้ปีละ 30,000 ล้านบาทเท่านั้น โดยรวม 5 ปี ก็จะมีรายรับอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท ส่วนกรณีที่ไม่มีดอกเบี้ยและถูกลดเบี้ยปรับนั้นจะทำให้ กยศ. เสียรายได้ปีละ 6,000 ล้านบาท ดังนั้นหลังจากนี้จะต้องขอความร่วมมือให้ลูกหนี้มีวินัยในการจ่ายหนี้ หรืออาจขอใช้งบประมาณจากภาครัฐ เพื่อประคองกองทุนให้ดำรงต่อไป” นายชัยณรงค์ กล่าว

นอกจากนี้ กยศ. ยังได้จัดอันดับข้อมูลการชำระหนี้ของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน จำนวน 313 แห่ง โดยพบว่า มีอัตราเงินต้นค้างชำระเฉลี่ย 61% และเมื่อพิจารณาจากสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีจำนวนผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้มากกว่า 2,000 ราย พบว่าสถานศึกษาที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด 25 อันดับแรกส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยมหาวิทยาลัยที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุดเป็นอันดับแรก ได้แก่ มหาวิทยาลัยพะเยา และมีมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับคือ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยเรียงตามลำดับมหาวิทยาลัยที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด ดังนี้ 

1. มหาวิทยาลัยพะเยา 

2. มหาวิทยาลัยศิลปากร 

3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

4 มหาวิทยาลัยนเรศวร 

5. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

6. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 

7. มหาวิทยาลัยมหิดล 

8. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

9. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

10. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

11. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 

12. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ  

13. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

14. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

15. มหาวิทยาลัยบูรพา 

16. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ 

17. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

18. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

19. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 

20. มหาวิทยาลัยขอนแก่น               

21. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 

22. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 

23. สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

24. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร 

25. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกองทุนฯ ได้ให้โอกาสแก่นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศไปแล้วทั้งสิ้น 6,284,005 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 702,309 ล้านบาท ประกอบด้วย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษา/ปลอดหนี้ 986,668 ราย ผู้กู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1,669,129 ราย ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,559,421 ราย และผู้กู้เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 68,787 ราย 

สำหรับผลการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียน นักศึกษาได้รับอนุมัติให้กู้ยืมจำนวน 638,132 ราย รวมเป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 38,879 ล้านบาท และสำหรับผลการรับชำระหนี้ในปีงบประมาณ 2565 กองทุนได้รับชำระเงินคืนแล้วกว่า 27,844 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ย.65)