กพช.พร้อมนำเอสเอ็มอีไทยจับคู่ธุรกิจคู่ค้ารายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ



  • จัดงานซับคอนไทยแลนด์เรียกลูกค้าเดือนพ.ค.
  • มั่นใจเกิดการจับคู่ธุรกิจกระหึ่มโลก
  • เปิดแผนยุทธศาสตร์ปีหนูทอง

น.ส.ซ่อนกลิ่น พลอยมี ผู้อำนวยการกองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุน(กพช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)เปิดเผยว่า กพช. มีหน้าที่ในการนำผู้ประกอบการมา เชื่อมโยงการลงทุนระหว่างเอสเอ็มอีไทย กับผู้ซื้อรายใหญ่ทั้งไทยและต่างประเทศ และเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างเอสเอ็มอีของคนไทย โดยมีเป้าหมายการเชื่อมโยงการลงทุนของบีโอไอในปีนี้จะ แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ 1 การเชื่อมโยงเอสเอ็มอีไทยกับผู้ประกอบการหรือผู้ซื้อรายใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการต่างชาติ และ 2 การเชื่อมโยงกับเอสเอ็มอีคนไทย ด้วยกันเอง

สำหรับ การเชื่อมโยงทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะเกิดจากการเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละปีที่ กพช.จัดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีกิจกรรมหลัก เช่น ตลาดกลางซื้อขายชิ้นส่วน กิจกรรมผู้ซื้อพบผู้ขาย การร่วมงานนิทรรศการในต่างประเทศ และการเจรจาจับคู่ธุรกิจ โดยเฉพาะในงานซับคอนไทยแลนด์ที่ปีนี้จะจัดในเดือนพ.ค.นี้ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนา ของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพมากพอที่จะเข้าไปอยู่ในกระบวนการเชื่อมโยงได้

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมที่มีการเชื่อมโยงมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพที่หลากหลายสาขาทั้งการผลิตและบริการ มูลค่าของการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมจากกิจกรรมที่กพช. จัด มีมูลค่าการเชื่อมโยงกับผู้ซื้อรายใหญ่ 66 % คิดเป็นมูลค่า 38,421 ล้านบาท นี้ และคาดว่าในปีนี้ จะมีกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนทั่วโลกร่วมงานกว่า 500 ราย ทั้งไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน ตั้งเป้าการเจรจาจับคู่ธุรกิจ 9,000 คู่ มูลค่ารวม 16,000 ล้านบาท นอกจากนี้จะมีกิจกรรมเชื่อมโยงการลงทุนในต่างประเทศอีก 6-8 ครั้ง อาทิ เยอรมนี อังกฤษ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย โดยรายละเอียดกิจกรรมมี อาทิ ผู้ซื้อพบผู้ขาย ตลาดกลางซื้อขายชิ้นส่วน จัดหาผู้ผลิตชิ้นส่วน การร่วมทุน

นอกจากผลที่เป็นรูปธรรมในเรื่องมูลค่าการเชื่อมโยงแล้ว ในปี 2562 กพช. ยังได้สร้างโอกาสในการเชื่อมโยงในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เพิ่มเติม ซึ่งเป็นแนวโน้มการเชื่อมโยงที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมระบบราง และอากาศยาน  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมระบบราง มีชิ้นส่วนหลายชิ้นที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพเพราะเทคโนโลยีการผลิตใกล้เคียงกับที่ผู้ประกอบการไทยมีอยู่ 

ขณะที่ในปีนี้ กพช. จะเน้นการเชื่อมโยงทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชักจูงการลงทุน ที่เน้นส่งเสริมการลงทุนที่สร้างนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น กพช. จึงต้องเร่งสร้างการเชื่อมโยงทาง ด้านนี้ เพื่อเตรียมผู้ประกอบการไทยให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศและยังสามารถรักษาศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันไว้ ดังนั้น กิจกรรมการเชื่อมโยงในปี นี้จึง จะเน้นการสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงทางด้านเทคโนโลยีทั้งกับภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น พร้อมกับการสร้างกิจกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรมและการลงทุนไปพร้อม ๆกัน