กนอ.ทุ่มงบ 280 ล้านบาท ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ



กนอ.ได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม (ระยะ2)

  • บรรเทาผลกระทบโควิด-19เพิ่มเติม
  • ผ่าน3มาตรการฉุดพ้นวิกฤต
  • สิ้นเดือนมิ.ย.มีโรงงานเปิดใหม่114แห่ง

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่า  กนอ.ได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม (ระยะ2) ประกอบด้วย 1.การลดหย่อนอัตราค่าเช่าที่ดินในอัตรา 10% ให้แก่ผู้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมทุกประเภท  ยกเว้นผู้เช่าที่ดินพร้อมอาคาร สำหรับผู้เช่าที่ดินที่ต้องชำระค่าเช่าระหว่างเดือนม.ค.-ธ.ค.นี้  โดยต้องเป็นผู้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.บริหารจัดการเองและท่าเรืออุตสาหกรรม จำนวน 14 แห่ง ไม่รวมผู้ประกอบการรายย่อย(ขนาดย่อม) ที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว 

ทั้งนี้ ผู้เช่าที่ดินสามารถขอคืนหลักประกันสัญญาเช่า ส่วนที่เป็นเงินสดได้ โดยการนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารภายในประเทศ ในมูลค่าที่เท่ากันมาวางแทน ซึ่งมีเงื่อนไขต้องเป็นผู้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ระยะเวลาการเช่าไม่น้อยกว่า 5 ปี รวมวงเงินความช่วยเหลือกรณีนี้ 140.4 ล้านบาท 

2.การลดหย่อนค่าเช่าที่ดินในอัตรา 10 %สำหรับผู้เช่าที่ต่อสัญญาเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ระหว่างเดือนม.ค.-ธ.ค.นี้  และเป็นสัญญาเช่าระยะยาว(10 ปีขึ้นไป) และต่อสัญญาเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.บริหารจัดการเอง และท่าเรืออุตสาหกรรม จำนวน 14 แห่ง ไม่รวมผู้ประกอบการรายย่อย (ขนาดย่อม) ที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว รวมเป็นวงเงินความช่วยเหลือในกรณีนี้ 62.1 ล้านบาท 

3.ลดหย่อนค่ากำกับการบริการในอัตรา 50 %สำหรับนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่เปิดดำเนินการแล้ว  30 แห่ง  และยกเว้นค่ากำกับการบริการสำหรับนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยยังไม่เปิดดำเนินการ 13 แห่ง และได้ขยายระยะเวลาการชำระเงินออกไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้  รวมเป็นวงเงินความช่วยเหลือกรณีนี้ 77.4 ล้านบาท โดยทั้ง3มาตรการช่วยเหลือมีมูลค่ารวมประมาณ 280 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน เมื่อรวมกับมาตรการความช่วยเหลือในระยะที่ 1 ก่อนหน้านี้ จะมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 309 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2563หรือจนถึงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา  มีการแจ้งเริ่มกิจการใหม่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในสังกัดของกนอ. จำนวน 114 โรงงาน มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น จำนวน 12,019 คน ส่งผลให้มีตัวเลขโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมสะสม มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม 6,112 โรง มีการจ้างงานรวม 515,962 คน