“กกร.” เคาะหั่นจีดีพีปี 66 เหลือ 2.5-3% ชี้เศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ



“กกร.” ปรับลดประมาณการณ์ GDP ปี 66 เหลือแค่ 2.5-3% จากเดิมให้ไว้ 3-3.5% ชี้ภาคส่งออกมูลค่าติดลบ 10 เดือนต่อเนื่อง แนะรัฐออกมาตรการกระตุ้นด่วน!

  • เผยเศรษฐกิจไทยอ่อนแรง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ทำให้การส่งออกหดตัวต่อเนื่อง
  • พร้อมกังวลสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานทะลัก มาแข่งขันด้านราคาในตลาดไทย
  • ชี้การลดราคาน้ำมัน-ลดค่าไฟ รัฐบาลน่าจะทำได้ทันที ซึ่งจะช่วยเรื่องปากท้องชาวบ้านโดยตรง

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทยในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยหลังการเป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า กกร.ประจำเดือน ก.ย.66 ได้เห็นชอบปรับลดกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 จากเดิมที่คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะเติบโต 3-3.5% เหลือเป็น 2.5-3% แต่ยังคงกรอบการส่งออกโต -2 ถึง -0.5% และคงอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 1.7-2.2%

ทั้งนี้ เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องจากที่เหลือของปีนี้ ซึ่งส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัดผ่านตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ที่เติบโต 1.8% ต่ำกว่าประมาณการที่ 3.1% อย่างมาก

“เศรษฐกิจไทยมีการอ่อนแรงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ทำให้การส่งออกหดตัวโดยมูลค่าการส่งออกติดลบต่อเนื่องมาแล้ว 10 เดือน รวมถึงตัวเลขติดลบแทบทุกหมวด อีกทั้งการใช้จ่ายภาครัฐก็มาหดตัวต่อเนื่อง จากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ขณะที่รายได้ภาคท่องเที่ยวก็ยังต่ำกว่าที่คาดไว้ จากการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มียอดต่ำกว่าปกติราว 13% โดยหากรัฐมีมาตรการเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งการลดค่าใช้จ่าย ลดค่าน้ำมัน ลดค่าไฟ การแก้หนี้ครัวเรือน เป็นต้น ก็จะทำให้เศรษฐกิจปีนี้ยังโตได้ 3%” นายผยง กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร. ยังกังวลกับสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานทะลักเข้ามาแข่งขันด้านราคาในตลาดไทย ส่งผลทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเบื้องต้นมี 20 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่มียอดขายลดลง และหากไม่มีมาตรการกำกับดูแลราคาสินค้านำเข้าดังกล่าว ผลกระทบจะขยายวงกว้าง โดยกกร.จึงขอเสนอให้รัฐเข้มงวดในการตรวจจับสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานผ่านกลไกทั้งจาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกรมศุลกากร เป็นต้น

นายผยง กล่าวด้วยว่า กกร.เห็นว่าดอกเบี้ยปัจจุบันที่อยู่ราว 2.25% ซึ่งเป็นระดับสมดุลแล้ว เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงทำให้สถาบันการเงินได้ชะลอการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบ ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ จะเป็นอย่างไรคงต้องรอดู แต่เชื่อว่าแรงกดดันต่อเงินเฟ้อลดลงมากแล้วส่วนในด้านมีมุมมองอย่างไรต่อนโยบายของรัฐบาลนั้นคงจะต้องขอดูรายละเอียดจากการแถลงนโยบายในวันที่ 11 ก.ย.นี้ ก่อน

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลเร่งด่วนที่เห็นว่ารัฐบาลเองก็กำลังเร่งทำ คือการแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้าน โดยเฉพาะลดค่าไฟและค่าน้ำมัน เพราะถือเป็นการลดค่าครองชีพที่เร็วและหยุดต้นตอได้ ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องเติมเข้ามา เช่นการทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงิน เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าในวันที่ 11 ก.ย.นี้ จะมีแถลงนโยบายคงจะเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลดราคาน้ำมัน ลดค่าไฟ รัฐบาลน่าจะทำได้ทันที ซึ่งก็จะช่วยเรื่องปากท้องชาวบ้าน ส่วนในเรื่องท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เหลือ นอกจากมาตรการฟรีวีซ่าจีนแล้ว จะต้องเพิ่มเที่ยวบินและประชาสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่นให้คนจีน ลบภาพจากปัญหาข่าวลือที่ว่ามาเมืองไทยแล้วไม่ปลอดภัย โดยจุดนี้ต้องทำงานร่วมกันกับภาครัฐและสถานฑูตไทยในจีน