

- จีดีพีเหลือเป็น -8%ถึง-5% ส่งออก-10% ถึง -7%
- ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจใหม่
- จำเลยตัวเดิมโควิด-19 ทุบส่งออกท่องเท่ียว
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) มีมติปรับลดประมาณการณ์อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ตลอดท้ังปีนี้ เป็นติดลบ8% ถึงติดลบ 5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบ5% ถึง ติดลบ 3% ขณะที่การส่งออกจะติดลบ10% ถึงติดลบ 7% จากเดิมคาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบ 10% ถึง ติดลบ 5% และอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะติดลบ 1.5% ถึง ติดลบ 1% เนื่องจากประเมินว่าสภาพเศรษฐกิจไทย ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน และคาดว่าไตรมาส 2 ก็คาดว่าจีดีพีจะหดตัวลงลึกสู่อัตราเลขสองหลัก
นายปรีดี กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะคลายล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในหลายภาคส่วน กลับมาสู่ภาวะปกติแต่กำลังซื้อของคนไทยก็ยังคงอ่อนแรง ขณะที่การส่งออก ยังเผชิญความไม่แน่นอนจากการระบาดของโควิด-19 ในบางประเทศ ที่ยังรุนแรงและยังไม่มีทีท่าว่าจะจบเมื่อใด ทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยก็จะยังชะลอตัว ประกอบกับ สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และประเทศอื่นๆยังคงมีความผันผวน ทำให้เป็นปัจจัยกดดัน ตัวเลขการส่งออก
นอกจากนี้ ปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจไทย คือ การแข็งค่าของเงินบาท ที่กกร.มีความเป็นห่วงเพราะมีการแข็งค่าในอัตรา ที่รวดเร็วกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคนี้ และอาจแข็งค่าต่อเนื่อง ในระยะข้างหน้า จากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอกว่าที่คาด และการดำเนินนโยบายอัดฉีดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(คิวอี) ของหสรัฐ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่าภาคเอกชนอยากให้สถาบันการเงิน ขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ออกไปเป็นเวลา 2 ปี จากปัจจุบันผ่อนปรนให้เป็นเวลา 6 เดือนที่จะสิ้นสุดลงในเดือนก.ย.นี้ เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ เพราะในระยะต่อไป น่าเป็นห่วงว่าหากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินในกลุ่มต่างๆ สิ้นสุดลง แต่ผู้ประกอบการ ยังไม่ฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติได้ จะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานสูงขึ้นอีก และต้องให้เงินจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 00,000 ล้านบาทเกิดการต่อยอดและหมุนเวียนเศรษฐกิจได้หลายรอบ เพื่อประคองเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง