“เศรษฐา” รวมพลัง “ชัชชาติ” พี่สนับสนุนน้องชาย เร่งพัฒนากทม.

“เศรษฐา” รวมพลัง “ชัชชาติ” พี่สนับสนุนน้องชาย เร่งพัฒนากทม. ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาการประสานงานระหว่างหน่วยงานเข็นงานกทม.เต็มที่

  • ใช้นโยบายนำเป็นหลัก งบประมาณแทบไม่ต้อง
  • ผุดไอเดียจัดเทศกาลฤดูหนาวปลายเดือนธันวาคม
  • ให้ยิ่งใหญ่อยู่ในปฏิทินท่องเที่ยวโลก

วันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้หารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมการเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยนายเศรษฐากล่าวภายหลังการหารือว่า เป็นบรรยากาศการพูดคุยกันแบบสบายใจ ไม่ต้องมีองคาพยพใหญ่ กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่ใหญ่ 1ใน3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอยู่ที่นี่ พี่น้องประชาชนทั้งประเทศมีความคาดหวัง ทั้งรายได้จากการท่องเที่ยว เรื่องปัญหารถติด เรื่องฝุ่น การใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง กรุงเทพฯถูกเป็นที่หมายตาของทุกคน

“ผมกับดร.ชัชชาติรู้จักกันมานานวันนี้ก็คุยกันสบายๆ คุยกันตั้งแต่ก่อนโควิด ตอนนั้นผมบอกว่า ท่านสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีไปเลย ไม่ต้องสมัครผู้ว่าฯหรอก  ท่านบอกให้ผมเป็นผู้ว่าฯดีกว่าแล้วให้ผมเป็นนายกฯแทนเราจะได้ ทำงานร่วมกันแบบพี่ๆน้องๆ มานั่งคุยกันแบบสบาย วันนั้นก็ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมีบรรยากาศแบบนี้ ที่เรามานั่งคุยแบพี่ๆน้องๆได้ วันที่ผมมาทำงานบุคคลแรกๆที่คิดถึงคือผู้ว่าฯชัชชาติ ได้ฉันทามติท่วมท้น 1.4ล้านคะแนน สูงมากในประวัติศาสตร์ เป็นภารกิจแรกๆที่ผมจะพูดคุย สนับสนุนท่านผู้ว่าฯชัชชาติ ให้ทำงานลุล่วงไปด้วยดี เพราะกรุงเทพมหานครเป็นภาคส่วนที่สำคัญมาก ที่จะขับเคลื่อนประเทศ ปัญหาต่างๆก็มีอยู่มาก” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายเศรษฐากล่าวต่อว่า วันนี้ที่มานั่งคุยกัน เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมาคุยกับผู้ว่าฯและรมว.มหาดไทย จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาประมาณ 6-7 คน ขับเคลื่อนกรุงเทพ โดยใช้นโยบายเป็นหลัก การใช้งบประมาณมีน้อยมาก หน้าที่รัฐบาลคือสนับสนุนให้ผู้ว่าฯชัชชาติแก้ไขปัญหา อะไรที่ทำได้ทำก่อน โดยที่อาจจะใช้งบประมาณน้อยหรือไม่ต้องใช้งบประมาณเลย เป็นเรื่องการประสานงานที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี แล้วให้สนับสนุนการทำงานของผู้ว่าฯชัชชาติ เช่น เรื่องการจราจร รถติด อาชญากรรม จะบรรเทาลงไปได้จากการประสานงานที่ดีกว่า วันนี้ท่านผู้ว่าฯชัชชาติก็มีควิกวินมาเสนอ และมีคณะกรรมการพูดคุยกัน

“หน้าที่ผมคือสนับสนุนท่านผู้ว่าฯให้ ทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่ สนับสนุนน้องชายที่ดูแลภาคส่วนที่ใหญ่ของกรุงเทพมหานคร จะสั่งการในหน่วยงานที่ท่านผู้ว่าฯไม่มีอำนาจโดยตรงจะสั่งการผ่านคณะทำงานเล็กๆของเรา วันนี้พูดคุยกันแล้วจะตั้งคณะกรรมการต่อไป ” นายเศรษฐากล่าว

ด้านนายชัชชาติกล่าวว่า ทำงานมา 1 ปี ปัญหาที่เห็นชัดคือการประสานงานระหว่างหน่วยงาน เพราะกทม.เองมีอำนาจค่อนข้างจำกัด ถ้ามีการประสานงานที่เข้มข้นและมีทิศทางที่ชัดเจนจากฝ่ายบริหาร เชื่อว่าปัญหาที่เจอจะบรรเทาลงไปได้มาก ตอนแรกที่คุยกันจะตั้งคณะทำงานไม่กี่คน ที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น รมว.คมนาคม รมว.มหาดไทย ตำรวจ นายกรัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เป็นกลุ่มทำงาน ไม่เน้นเมกกะโปรเจกต์ เรื่องการลงทุน แต่เน้น เรื่องการผลักดันสิ่งที่เป็นข้อปัญหาติดขัดต่างๆ ปัญหาเร่งด่วนจะทำงานโดยคณะทำงานชุดนี้  อย่าให้เกินพิซซ่า 2 ถาด คืออย่าให้เยอะ เพราะถ้าเยอะมันไม่จบ

“เรื่องการจราจรที่ทุกคนมองว่าเป็นปัญหา ถามว่ากทม.เองเรารับผิดชอบส่วนหนึ่ง แต่การก่อสร้างในกทม.มาจากหน่วยงาน การรถไฟฟ้า การรถไฟ ทางหลวง การทางพิเศษ การไฟฟ้านครหลวง การประปา การที่จะไปผลักดันด้วยตัวเราเองก็ไม่ง่าย แต่ถ้าเกิดเรามี คณะกรรมการซึ่งมีการสั่งการ มีทิศทางที่ชัดเจน เรื่องนี้จะบรรเทาขึ้นเยอะ หรือแม้กระทั่งการทำฟุตบาท ทางเดิน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถไฟฟ้า รถเมล์ ทั้งหมดคือการเดินทาง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ปัญหารถติดได้แต่ต้องดูรถเมล์ ฟุตบาท ทางเท้า มอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นภาพรวม ไม่ต้องลงทุนเลย เป็นเรื่องนโยบายที่จะลงไป หรือแม้กระทั่งเรื่องเศรษฐกิจ ที่ท่านนายกฯให้ความสำคัญ เรื่องซอฟท์เพาเวอร์ เรื่องอัตลักษณ์ กรุงเทพมหานครมี 50 เขต  เอามาสร้างเป็นซอฟท์เพาเวอร์ 50 ย่าน” นายชัชชาติกล่าว

นอกจากนี้เรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับคนที่ยากลำบาก การนำพื้นที่ราชการในเมืองมาใช้ประโยชน์ ปัญหาคือคนจนไม่มีที่ดิน หาบเร่แผงลอยต้องอาศัยทางเท้าอยู่ เพราะเขาไม่มีที่ทำกิน แต่ถ้าทางภาครัฐใช้พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่ส่วนราชการให้คนทำมาหากินได้ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม จะเป็นเรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ทำได้  อีกแนวคิดคือ เรื่องการท่องเที่ยว เจอมากที่สุดที่ทูตทุกคนมาพูดถึงคือความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว การโกงนักท่องเที่ยว รถตุ๊กตุ๊ก แท็กซี่ผี ไกด์ผี ที่สร้างความไม่ปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว กทม.แก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายตำรวจท่องเที่ยว ถ้าร่วมมือกันได้แบบบูรณาการจะแก้ปัญหาได้ดี มีแนวคิดจะทำ Winter Festival เทศกาลฤดูหนาวปลายเดือนธันวาคม  ถ้าทุกภาคส่วนมาร่วมกันให้เป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่อยู่ในปฏิทินโลก  ทุกคนมาช่วยกัน จะช่วยให้ดีขึ้นได้  เรื่องฝุ่นพีเอ็ม2.5 การใช้เครื่องยนต์การปรับเครื่องยนต์ ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่อยู่ในนโยบายก็ผลักดันกันต่อ

เรื่องสายสื่อสารที่รกรุงรัง กทม.ทำเองได้ไหม ได้ในระดับหนึ่งแต่ต้องเกี่ยวกับกสทช. การไฟฟ้านครหลวง เราเองแค่ขอความร่วมมือ ถ้ามีคณะกรรมการจะแก้ปัญหาได้รวดเร็ว และเป็นรูปธรรม