เตือนนักลงทุน ระวังอย่าหลงเชื่อ! หลอกลงทุนทองออนไลน์ สูญเงินมหาศาล

ดีอี จับมือ สมาคมทองคำ เตือนนักลงทุน ระวังอย่าหลงเชื่อ! หลอกลงทุนทองออนไลน์ ทำให้นักลงทุนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

  • มิจฉาชีพจะใช้วิธีหลอกลวง
  • ผ่านรูปแบบตามกระแสนิยมในแต่ละช่วง
  • ขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่ากดลิงค์ กดแชร์เด็ดขาด

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง  รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า  ทางสมาคมค้าทองคำได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการและผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ว่าขณะนี้มีมิจฉาชีพปลอมแปลงเฟซบุ๊กเพจร้านค้าทองคำที่มีชื่อเสียงและเป็นสมาชิก สมาคมค้าทองคำทำการเผยแพร่โฆษณาชักชวนหลอกให้มีการลงทุน และอ้างว่ามีการ จ่ายเงินปันผลทุกวัน หรือให้ผลประโยชน์เกินจริงเพื่อจูงใจให้หลงเชื่อ ส่งผลให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริโภคจำนวนมาก อีกทั้งยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อผู้ประกอบธุรกิจค้าทองคำ ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของประเทศมิจฉาชีพใช้ช่องโหว่ ในการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการหลอกลวงให้นักลงทุน ลงทุนซื้อทองคำออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มปลอม ทำให้นักลงทุนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

ด้าน นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่าปัจจุบันประชาชนเปลี่ยนจากการเก็บออม เป็นการลงทุนเพื่อการเก็งกำไรในทองคำเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีวิธีการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งการซื้อขายทองผ่านหน้าร้านทอง การลงทุนทองออนไลน์ รวมถึงการลงทุนทองคำในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) อาจเป็นช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพ ต่างอาศัยชื่อเสียงและความเชื่อมั่น ของผู้บริโภคที่มีต่อร้านค้าทองคำ นำมาหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ และเกิดความเสียหาย โดยตัวอย่างของสมาชิกสมาคมที่ได้รับผลกระทบ อาทิ จินฮั้วเฮง ,  YLG , ออโรร่า ซึ่งได้สร้างความเสียหาย ต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงต่อองค์กรโดยรวม ส่งผลลทำให้ลูกค้าเกิดความสับสน ไม่แน่ใจ ขาดความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นของบริษัทฯ ทางสมาคมฯ ขอเสนอแนะให้มีขั้นตอนการปิดเพจปลอม โดยส่งข้อมูลยืนยันว่าเป็น เพจปลอมจริง และแจ้งไปยังสมาคมค้าทองคำ เพื่อประสานงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการปิดเพจปลอมนั้นต่อไป

ทั้งนี้ในปี 2566-2567 มิจฉาชีพมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการสร้าง Facebook และ TikTok ปลอมแทน โดยยกตัวอย่าง บจ.ฮั่วเซ่งเฮง มีการตรวจพบครั้งแรกในช่วง เดือนกันยายน 2566 ซึ่งจนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ มีการเก็บข้อมูลการปลอมทั้ง 2 ช่องทางรวมกันทั้งสิ้น 40 บัญชี ดังนี้ 1. Facebook : จำนวน 14 บัญชี 2. TikTok : จำนวน 26 บัญชี โดยบริษัทฯ ได้รับการร้องเรียนจากผู้เสียหายผ่านช่องทางต่างๆ จำนวน 44 เคส ความเสียหายโดยรวมประมาณ 20.8 ล้านบาท และความเสียหายของ บจ.ออโรร่ามีผู้เสียหายรวมถึง ลูกค้าของบริษัทฯ เป็นจำนวนมาก โดยมีจำนวนผู้เสียหาย ที่ติดต่อเข้ามากับฝ่ายกฎหมายประมาณ 150 คน ค่าเสียหายโดยรวมประมาณ 60 ล้าน

“มิจฉาชีพจะใช้วิธีหลอกลวงผ่านรูปแบบตามกระแสนิยมในแต่ละช่วง เช่นในปี 2565 จะเป็นเรื่องของการลงทุนใน Forex และ Crypto currency ส่วนในปี 2566 จะเป็นเรื่องของการลงทุนหรือการออมแบบ Passive Income เป็นต้น ซึ่งเราสามารถสังเกตสัญญาณเพื่อเตรียมป้องกันได้จากกระแสความสนใจในเรื่องการลงทุนที่มี การเปลี่ยนไปของประชาชน ทางสมาคมขอความร่วมมือกับกระทรวงดีอี ในการป้องกันและปราบปรามปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด”