“เศรษฐา” สั่งตั้งวอร์รูมแก้ปัญหายาเสพติดให้เป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน การประชุม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.)

“เศรษฐา” สั่งตั้งวอร์รูมแก้ปัญหายาเสพติดให้เป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี พร้อมกำหนด 12 แนวทางการทำงานเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ

  • ผู้ค้าต้องถูกลงโทษและยึดทรัพย์ ทำลายเครือข่าย
  • ผู้เสพเป็นผู้ป่วยต้องช่วยให้ถึงการพัฒนาช่วยเหลืออาชีพ
  • นายกรัฐมนตรีขอให้ยึดหลักการนี้อย่างจริงจัง

วันนี้ (31 ตุลาคม 2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน การประชุม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ครั้งที่ 3/2566 ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นการประชุม นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย สรุปผลสำคัญของการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการประชุมในวันนี้นับเป็นการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. ครั้งแรกของรัฐบาลชุดนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ส. เป็นกลไกทางนโยบายด้านยาเสพติดของประเทศ เพื่อลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดให้ได้ โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเป็นนโยบายที่จะลดปัญหายาเสพติดให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าจะลดความเดือดร้อนของประชาชนได้มากขึ้น

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน การประชุม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.)

นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางการทำงานเพื่อบรรลุผลสำเร็จ ทั้งสิ้น 12 ข้อ ดังนี้

1. การยึดเป้าหมายร่วมกัน ผนึกกำลังร่วมกันยึดเป้าหมายสูงสุดนั่นคือ ลดความเดือดร้อนของประชาชน

2. การแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้านจิตเวช ยาเสพติดเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมากที่สุดปัญหาหนึ่ง รัฐบาลนี้ถือเป็นรัฐบาลแรก ที่จัดการเป็นนโยบายให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งการแก้ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มีความท้าทายอย่างยิ่ง

3. การสร้างความเข้าใจ ปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ในระยะเร่งด่วน 1 ปี ได้กำหนด เป้าหมาย ตัวชี้วัด และแนวทางการทำงาน จึงควรมีการทำความเข้าใจในการปฏิบัติ ให้กับหน่วยงานทั้งส่วนกลางและพื้นที่เป็นหลักประกันของความสำเร็จตั้งแต่เริ่มแรกก่อนการลงมือปฏิบัติ

4. งบประมาณ ให้ทุกหน่วยที่ได้รับงบประมาณด้านยาเสพติดประจำปีอยู่แล้ว ขอให้ปรับและจัดสรรงบประมาณให้กับปฏิบัติการเร่งด่วนนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้เพราะเป็นนโยบายสำคัญ

5. จังหวัดเป็น CEO จัดการแก้ไขปัญหาตัวเอง ขอให้แต่ละจังหวัดดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง วัดผลได้ เป็นรูปธรรม

6. การขยายการมีส่วนร่วมของชุมชน ความสำเร็จของการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่สำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมของชุมชน ขอให้กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปหาแนวทางในการ ขยายการมีส่วนร่วมของชุมชนให้มากกว่านี้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน การประชุม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.)

7. ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดให้มากขึ้น เพราะเป็นกฎหมายที่ปรับฐานคิด ของการแก้ไขปัญหายาเสพติดใหม่ ยึดผู้เสพเป็นผู้ป่วย ผู้ค้าต้องถูกลงโทษและยึดทรัพย์ ผู้ป่วย ต้องช่วยเขาให้ตลอดไปถึงการพัฒนา ช่วยเหลืออาชีพ ให้เห็นเป็นตัวอย่าง อย่าไปมุ่งจับกุมผู้เสพ เป็นหลัก ส่วนผู้ค้าต้องมุ่งทำลายเครือข่าย ยึดทรัพย์สินอย่างเต็มที่ตามหลักนิติธรรม โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ยึดหลักการนี้อย่างจริงจัง

8. วางระบบรายงาน ติดตาม เชิงรุก สามารถมองเห็นความคืบหน้า การขับเคลื่อนงาน ปัญหาอุปสรรค และแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เป็นเรื่องสำคัญของการบริหาร จัดการแนวใหม่ ซึ่งจะต้องมีศูนย์บัญชาการ (war room) ในระดับต่าง ๆ โดยในส่วนกลางให้สำนักงาน ป.ป.ส. รับผิดชอบเรื่องนี้และเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการฐานข้อมูลยาเสพติดแห่งชาติ มีข้อมูลจากทุกหน่วยงาน

9. การสรุปองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้เป็น best practice เชื่อว่าการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดฯ จะสร้างนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด

10. การจัดทำอนุบัญญัติรองรับประมวลกฎหมายยาเสพติด ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการออกอนุบัญญัติที่ยังคงค้างอยู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

11. ความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อสั่งการเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 ขอให้เร่งรัดดำเนินงานและรายงานผลอย่างต่อเนื่อง และ

12. การสนับสนุนค่าตอบแทนเงินสินบนรางวัลคดียาเสพติด ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดประชุมทุกเดือน พิจารณาค่าตอบแทนให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ ในการประชุมฯ ได้พิจารณาร่วมกันถึง (ร่าง) แผนปฏิบัติการภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ระยะเวลา 1 ปี ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล การกำหนดพื้นที่เร่งด่วนตามมาตรา 5(10) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด การลดผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดการลดผลกระทบจากผู้ป่วยจิตเวช การขยายผลหัวโทนโมเดล ซึ่งประสบความสำเร็จจนได้รับการจัดให้เป็นโมเดลต้นแบบการแก้ปัญหาผู้ป่วยในชุมชนจิตเวชในชุมชนก่อเหตุรุนแรง และ(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติดจำนวน 2 ฉบับ