ถอดคำพูด “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” กล่าวในงาน “รับเพื่อนใหม่”ม.ธรรมศาสตร์

  • “วิถีก้าวไกล” ก็มาจาก “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ไม่มากก็น้อย
  • “ฉันรักธรรมศาสตร์​ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”
  • ต้องอยู่ไม่เป็น เพราะถ้าเราอยู่เป็น โลกก็จะไม่เปลี่ยน

นายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวในงาน “รับเพื่อนใหม่” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 4สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นงานจัดต้อนรับเด็ก ปี 1 ที่เพิ่งสอบติดเข้ามา เป็นประเพณีของทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะไม่ใช้คำว่า “งานรับน้องใหม่”  เหมือนมหาวิทยาลัยอื่น เนื่องจากมองว่า ทุกคนเท่าเทียมกัน เป็นเพื่อนกัน กิจกรรมจะไม่มีการลงโทษ แต่เน้นความสนุกสนาน เช่น การร้องเพลงแจว ส่งต่อๆกันไป เช่น แจวมาแจวจ้ำฉึก น้ำนิ่งไหลลึกนึกถึงคนแจว แจวเรือไปถึงสภา แจวเรือไปถึงสภา ขอเชิญพิธาลุกขึ้นมาแจว…

นายพิธา ในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 41 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะบริหารธุรกิจ การเงิน การธนาคาร ภาคภาษาอังกฤษ กล่าวบนเวทีว่า

ถึงเพื่อนใหม่ธรรมศาสตร์ทุกคน…

ในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจมากที่ได้มาพบหน้าพูดคุยกับเพื่อนใหม่ทุกคนในวันนี้

ผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมที่ทำงานของผม ถึงมีคนจากรั้วธรรมศาสตร์เยอะมาก ก็เพราะ “วิถีก้าวไกล” ก็มาจาก “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ไม่มากก็น้อย

คุณค่าหลักที่เรายึดถือเหมือนกัน นั่นคือ Democracy : ประชาธิปไตย, Freedom : เสรีภาพ และ Justice : ความเป็นธรรม

1.  Democracy : ประชาธิปไตย

ระบอบประชาธิปไตย หลายคนอาจะรู้สึกว่า ทำไมประชาธิปไตยมันช่างสับสนวุ่นวาย เชื่องช้ากว่าจะทำอะไรสักอย่างได้ ประชาธิปไตยอาจไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อย เป็นที่ยอบรับแล้วว่าเป็นระบอบที่ทำให้คนที่มีความคิดแตกต่างหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ เพราะทุกคนมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่ากัน “คนเท่ากัน” ไม่ว่าคุณจะร่ำรวยแค่ไหน ยากดีมีจนอย่างไร เมื่อเข้าไปคูหาตัดสินใจทิศทางประเทศแล้ว คุณคือคนเท่ากัน

2. Freedom : เสรีภาพ

เมื่อมีระบบประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิ์เสียงเสมอภาคกันแล้ว สิ่งที่ต้องตามมาคือเสรีภาพในการแสดงออก แสดงความคิดเห็น การใช้ชีวิต การคิดการเขียน การประกอบอาชีพการงาน การเดินทาง การกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง ฯลฯ โดยไม่ถูกกีดกัน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

ซึ่งที่ธรรมศาสตร์เองก็มีประโยคที่คนขนานนามกันว่าเป็น “ดินแดนแห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” ทั้งผู้บริหาร อาจารย์ และเพื่อนๆ นักศึกษา ร่วมกันสร้างบรรยากาศแห่งเสรีภาพ เปิดกว้างในการแสดงออก โดยผมเชื่อว่าอาจจะมากที่สุดในประเทศไทยแล้ว

3. Justice : ความเป็นธรรม

ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ฯลฯ

เรื่องนี้คงไม่ต้องอธิบายมาก เพราะชื่อมหาวิทยาลัยเองก็มีคำนี้อยู่

ธรรมศาสตร์ ก็คือ ศาสตร์แห่งความเป็นธรรม ที่คนทั่วไปอาจจะเข้าใจว่าหมายถึงหลักกฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกาทุกสิ่งอย่างในสังคมจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมด้วย

ขอยกตัวอย่างหลักความเป็นธรรมที่ถูกพูดถึงในเพลงประจำมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ทำนองมอญดูดาว ท่อนสุดท้ายมาให้ทุกท่านฟัง ตามนี้:

“เหลืองของเราคือธรรมประจำจิตต์

แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้มา

เอ๋ย เหลืองกับแดง เหลืองกับแดง เหลืองกับแดง

ทุกๆ แห่ง ทุกๆ แห่ง แต่ล้วนเหลืองกับแดง

ชื่อว่าธรรมแล้วเราเทิดให้สมไทย

ทุกอย่างไปงานหรือเล่นต้องเป็นธรรมมา

เอ๋ย ใครรักชาติ ใครรักธรรมเหมือนกับเรา

จงมาเข้าและโปรดเอาใจช่วยเหลืองกับแดง”

ทั้ง 3 ข้อนี้ เป็นหลักการที่ผมและพรรคก้าวไกลยึดถือมาเสมอเช่นกัน และเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อมี 3 หลักสำคัญในใจแล้ว สุดท้ายถ้าไม่มีสิ่งนี้ ชีวิตของเราก็ไม่มีประโยชน์อะไร… นั่นคือ ภราดรภาพ หรือ Solidarity

เชื่อว่าทุกคนเคยได้ยินประโยคนี้มาไม่มากก็น้อย “ฉันรักธรรมศาสตร์​ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” โดยประโยคเต็มๆ มาจากข้อเขียนของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา สื่อถึงหลัก “ภราดรภาพ” หรือ Solidarity ได้ดี

ข้อเขียนเต็มก็คือ…

“นักศึกษาและบัณฑิตของ ม.ธ.ก. (ชื่อเดิม: มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง) มีความรักในมหาวิทยาลัยของเขา มิใช่เพราะเหตุแต่เพียงว่าเขาได้เรียนในมหาวิทยาลัยนี้ เขาได้วิชาความรู้ไปจากมหาวิทยาลัยนี้ เขารักมหาวิทยาลัยนี้ เพราะว่ามีธาตุบางอย่างของมหาวิทยาลัยนี้ที่สอนให้เขารู้จักรักคนอื่นๆ รู้จักคิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่น เพราะว่ามหาวิทยาลัยนี้ ไม่กักกันเขาไว้ในอุปาทานและความคิดที่จะเอาแต่ตัวรอดเท่านั้น”

นี่คือหลักภราดรภาพ การมองว่าเราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เมื่อเธอเจ็บ ฉันก็เจ็บ เมื่อมีใครทุกข์ร้อน เราก็ต้องคิดถึงความทุกข์ร้อนของคนอื่นและหาทางช่วยทุกคนให้เติบโตและมีความสุขไปด้วยกันทั้งสังคม

ดังนั้น มาสู่ข้อคิดหลักๆ ที่ผมจะขอฝากเพื่อนใหม่ทุกคนไว้…

ความรู้จากห้องเรียนที่คุณจะได้เรียน ได้ท่องจำ ได้สอบ ในตลอด 3-4-5-6 ปีของการเรียนที่นี่ สมมติว่าเรียนไป 100 อาจจะจำได้เข้าหัวหลังจากสอบเสร็จได้เพียง 50 แต่เอาไปใช้ในการทำงานได้จริงเพียง 20 แต่มันก็เป็น 20 ที่มีค่ามากพอจะตั้งใจเรียน

แต่ที่สำคัญที่สุด สิ่งที่คุณจะได้ ไม่ใช่ความรู้ตามหนังสือหรือที่ค้นหาทางอินเตอร์เน็ตได้อีกแล้ว แต่มันคือตัวตนและ “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ที่จะติดตัวคุณไปตลอดชีวิต

ตลอดที่ผมได้ใช้ชีวิตในรั้วเหลืองแดงแห่งนี้ การเรียนการสอนใดๆ กิจกรรมใดๆ ที่เราจะได้ทำ งานใดๆ ที่เราจะได้ร่วมนั้น เราจะต้องตระหนักถึงคำถามใหญ่ๆ ไว้เป็นหลักคิดไว้เสมอ จะได้ไม่หลงทาง ได้แก่…

What was? = เราเรียนสิ่งที่เคยเป็นมา ให้เข้าใจที่มาที่ไปของโลกใบนี้

What is? = เราเรียนสิ่งที่เป็นอยู่ โลกใบนี้ปัจจุบันเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้นั้นเป็นธรรมหรือดีที่สุดแล้ว

อย่าลืมว่าต้องคิดถึง What ought to be? = สิ่งที่ควรจะเป็น หรือสิ่งที่ดีกว่านี้

และ How to? = ฝันถึงโลกที่ดีกว่านั้นไม่พอ ต้องคิดว่าจะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?

และลงมือทำ We Own the Future, Go for It! ถ้าเรายอมจำนนต่อโชคชะตา โลกก็จะไม่เปลี่ยน เพราะโลกจะเปลี่ยนได้ เริ่มจากการลงมือทำของเราทุกคน ดังนั้น ต้องไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตาเด็ดขาด

เมื่อมีหลักคิดตามนี้แล้ว ลองย้อนไปดูเสาหลัก 3 ข้อที่ผมพูดข้างต้น ในสังคมเรามี 3 เสาหลักนี้ดีสมบูรณ์แล้วหรือยัง มันจะดีกว่านี้ได้อีกไหม? เราจะทำอย่างไรให้ดีกว่านี้ได้บ้าง?

1.ประชาธิปไตย แต่ในประเทศไทย ประชาธิปไตยก็ยังไม่สามารถลงหลักปักฐานได้อย่างมั่นคง รัฐบาลที่มาตามครรลองประชาธิไตยกลับถูกรัฐประหาร เมื่อยึดอำนาจแล้วก็เขียนรัฐธรรมนูญเอื้อให้ตัวเองสืบทอดอำนาจ มี 250 สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้เจตนารมณ์ประชาชนถูกบิดเบือนไป

และถ้าการเมืองมันดี การเมืองมันปกติ ตามครรลองประชาธิปไตยจริงๆ คนที่ยืนคุยกับทุกท่านตรงนี้ คงมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่นี่ผ่านการเลือกตั้งไปแล้วจะ 3 เดือน การตั้งรัฐบาลยังดูมืดมน พรรคการเมืองต่างๆ ถูกบีบให้ผสมพันธุ์ข้ามขั้ว ยอมให้คนที่ไม่ได้มาโดยประชาชน เข้ามาบิดเบือนเสียงประชาชนได้

2.เสรีภาพ ยังมีผู้คนอีกมากมายในประเทศไทยและในโลกนี้ยังอยู่ใต้ความกลัว เสรีภาพถูกคุกคาม มีคนถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะตัวตนของเขา มีคนที่ถูกดำเนินคดีเพราะสิ่งที่เขาคิดและพูด หรือที่เลวร้ายกว่านั้น มีคนถูกฆ่า ถูกอุ้มหาย ถูกทำร้าย จากสิ่งที่ตัวเองแสดงออก

3.ความเป็นธรรม ก็ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากถูกระบบกฎหมายรังแก หลายครั้งมีคนใช้กฎหมายโดยไม่สุจริต หลายครั้งตัวบทกฎหมายเองก็มีปัญหา ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นเรื่องกฎหมายเลือกปฏิบัติ ไม่ให้คนที่รักกันสามารถสมรสกันได้ถ้าเขามีเพศเดียวกันในมุมมองของกฎหมาย กฎหมายบังคับคนไปเกณฑ์ทหาร กฎหมายล็อกการผลิตสุราและเบียร์ไม่ให้ชาวบ้านผลิตได้ แต่กลุ่มทุนใหญ่ผลิตได้สบาย

ในภาพใหญ่ หากย้อนกลับไปในวันที่ผมเองเป็นนักศึกษารหัส 41 เหมือนทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ทั่วโลกมีประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่า 50% ของทั้งโลก แต่วันนี้ความเป็นประชาธิปไตยบนโลกถอยหลังลงอยู่เหลือเพียงประมาณ 20% ส่วนความเหลื่อมล้ำ ในสมัยนั้นคนที่รวยที่สุด 1% กับคน 50% ล่าง มีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างกัน 8 เท่า แต่เวลานี้คือ 16 เท่า คน 1% ข้างบนสุดครองทรัพย์สิน 50% ของทั้งโลก ส่วนคน 50% ครองทรัพย์สิน 2% เท่านั้น

น่าเจ็บใจที่ผ่านไป 25 ปี ทุกอย่างกลับถดถอยลง เรากำลังอยู่ในโลกที่ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเป็นธรรมกำลังถดถอย สิ่งเก่ากำลังล้มพังลง ขณะที่สิ่งใหม่ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นยังไม่สำเร็จ โลกใบใหม่เต็มไปด้วยความปกติใหม่ แต่เรายังคงไม่มีฉันทามติใหม่สำหรับความปกติใหม่เสียที

ประเทศไทยและโลกใบนี้ ยังไม่ใช่โลกที่ดีที่สุด เราสามารถช่วยกันเปลี่ยนแปลงและสร้างโลกที่น่าอยู่กว่านี้สำหรับทุกคนได้

สุดท้าย… ไม่ว่าคุณจะเรียนคณะอะไร ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ บัญชี วิศวะ หมอ พยาบาล ทันตะ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ไม่ว่าคุณจะจบไปแล้วประกอบอาชีพการงานอะไร… อย่าเอาความรู้ไปคดโกงเบียดเบียนคนอื่น จงใช้วิชาความรู้ความสามารถของตัวเรา ไปเพื่อพัฒนาเปลียนแปลงสังคมให้ดียิ่งขึ้น ช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อน และอะไรที่ไม่ถูกต้อง ก็อย่าไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน

ต้องอยู่ไม่เป็น เพราะถ้าเราอยู่เป็น โลกก็จะไม่เปลี่ยน

หวังว่าการพบกันครั้งนี้จะช่วยนำทางให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการเรียน การงาน ชีวิต และประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

หวังว่าจิตวิญญาณธรรมศาสตร์จะสถิตอยู่ในหัวจิตหัวใจเพื่อนใหม่ทุกคน

ขอบคุณเพจ Pita Limjaroenrat-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์