“พิมพ์ภัทรา” รมว..อุตสาหกรรมป้ายแดง มอบนโยบายแก้กม.ลดอุปสรรคการลงทุน

“พิมพ์ภัทรา” รมว..อุตสาหกรรมป้ายแดง มอบนโยบายลดอุปสรรคการลงทุน พร้อมแก้ไขกฎหมายที่เป็นปัญหา ใช้ไอทีอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ

  • เร่งดำเนินการเรื่องพักชำระหนี้เอสเอ็มอี
  • หนุนสร้างความมั่นคงด้านอุตสาหกรรมอาหาร

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยในการเข้าทำงานที่กระทรวงอุตสาหกรรมวันแรกว่า ได้หารือกับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีเรื่องหลักๆคือ อุตสาหกรรมรถยนต์อีวี และเขตการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี  ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมทำไว้ดีแล้ว ต้องการให้ขยายต่อ 4 ภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันตก และภาคใต้  โดยเฉพาะภาคใต้ได้หารือเรื่องอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เพราะในอนาคตประเทศใดมีความมั่นคงด้านอาหารจะมีความสำคัญ เพราะช่วงเกิดโควิด-19 จะเห็นได้ชัดว่า อุตสาหกรรมอาหารมีความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เวลาพูดถึงกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่อยากให้คิดว่าเป็นกระทรวงดำเนินการ แต่อยากให้มองว่าเป็นกระทรวงที่สนับสนุน ส่งเสริม ไม่น่ากลัว มีรอยยิ้ม ตรวจสอบได้ ข้อครหาต่างๆจะใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วย ผู้มาติดต่อสามารถตรวจสอบได้ว่า ขั้นตอนไปถึงไหนอย่างไร อุตสาหกรรมรถอีวี ที่จะมาลงทุนทั้ง เทสล่า และจากเกาหลีใต้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)ต้องพร้อมให้ความมั่นใจ แค่คิดมาลงทุนสามารถทำได้เลยภายในกี่วัน ต้องพยายามลดขั้นตอนต่างๆ กฎหมายอะไรที่เป็นปัญหาต้องแก้ไขซึ่งได้หารือกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน ว่าอะไรที่เป็นอุปสรรคต้องช่วยให้ง่ายขึ้น ลดขั้นตอนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคของทั้งกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม

“นโยบายเร่งด่วน คือต้องตอบโจทย์ให้ได้งวว่าถ้าผู้ประกอบการมาขอใบอนุญาตจะเสร็จภายในกี่วัน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของผู้ประกอบการ  และอีกเรื่องที่เป็นนโยบายของรัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการเรื่องพักชำระหนี้เอสเอ็มอี  ขอให้เชื่อมั่นข้าราชการทำงานที่นี่จะทำให้บริการดีที่สุด อยากให้ธุรกิจของท่านดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ลงทุนได้รวดเร็ว ผู้ประกอบการใหม่ก็สามารถดำเนินการได้เร็วที่สุด”

สำหรับเรื่องมลพิษ กระทรวงอุตสาหกรรมถูกกล่าวหาไม่ค่อยดูแล ทั้งมลพิษจากโรงงาน รถยนต์ วันข้างหน้าอาจโดนกีดกันส่งออกจากเรื่องพวกนี้ ก็จะต้องเตรียมการรองรับเช่นกัน ขณะที่ปีหน้าจะมีปัญหาเอลนีโญ เราต้องดูการจัดการเรื่องน้ำในนิคมอุตสาหกรรมอย่าให้มีปัญหา กำชับไปแล้ง  ซึ่งทุกกระทรวงทราบดีว่าปีหน้าจะหนักหนาสาหัสเรื่องน้ำ ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดีคงไม่มีปัญหา