“EXIM BANK”ชี้ภาคส่งออกรับพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คาดครึ่งปีหลังโต10% หนุนเอสเอ็มอีไทยส่งออกตลาดโลก

  • หลังเอสเอ็มอีไทยส่งออกต่างประเทศได้แค่ 1%
  • ตั้งเป้าดูแลธุรกิจรายเล็กส่งออกได้ 1 แสนราย
  • พัฒนา 4 ปัจจัยสู้วิกฤตโควิด-สร้าง Pavilion ค้าออนไลน์

วันที่ 4 ส.ค.2564 นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวเพียง 1% ขณะที่การท่องเที่ยวยังรอวันฟื้นตัว และ“การส่งออก”จะกลายเป็นพระเอกที่ประคับประคองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 2564 ต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวถึง 15.5% โดยได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว และเงินบาทอ่อนค่าตัวลง โดยคาดว่าในปี 2564 ภาคส่งออกจะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 10%

ทั้งนี้แม้สถานการณ์ส่งออกของไทยจะดีขึ้น แต่เอสเอ็มอีในประเทศไทยที่มีอยู่รวมกว่า 3.1 ล้านราย สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้เพียง 1% เท่านั้น เนื่องจากเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่มีทักษะความรู้ในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น EXIM BANK จึงมีเข้าไปช่วยส่งเสริมเอสเอ็มอีให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ โดยมีตั้งเป้าให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้เฉลี่ยปีละ 600-1,000 ราย ซึ่งจะทำให้มีเอสเอ็มอีส่งออกไปต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นรวมกว่า 100,000 ราย

ทั้งนี้ EXIM BANK ได้พัฒนา 4 ปัจจัยสู้วิกฤตโควิด-19 ควบคู่กับการตอบโจทย์โลกวิถีใหม่ เพื่อขับเคลื่อนภาคส่งออกและเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง ดังนี้

1.พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ พลังงานทดแทน พาณิชยนาวีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมสีเขียว ดิจิทัล และสุขภาพ (Green, Digital, Health : GDH)

2.พัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ให้เป็นผู้ส่งออกรายใหม่เพิ่มมากขึ้น จากจำนวนผู้ส่งออก SMEs ของไทยในปัจจุบันมีไม่ถึง 1% ของ SMEs ทั้งประเทศซึ่งมีจำนวน 3.1 ล้านราย โดย EXIM BANK พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะทำให้ SMEs เข้าสู่ธุรกิจส่งออกได้ทันที

3.พัฒนาพาวินเลี่ยน (Pavilio) ช่วยการค้าออนไลน์ ภายใต้ชื่อ “EXIM Thailand Pavilion” เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยรายเล็กซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าถึงช่องทางดังกล่าว ทั้งการค้าขาย การโพสต์สินค้า ตลอดจนขีดจำกัดด้านเงินทุน มีโอกาสค้าขายกับคู่ค้าในต่างประเทศทางออนไลน์ได้อย่างประสบความสำเร็จ

4.พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเสริมสภาพคล่องและป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะSMEs ไทย รวมทั้งมาตรการ “พักหนี้” และ “เติมทุน” ช่วยเหลือลูกค้าและผู้ประกอบธุรกิจส่งออกและเกี่ยวเนื่อง ผู้นำเข้า และนักลงทุนจากผลกระทบของโควิด-19 ตามนโยบายของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัดซึ่งมีระยะเวลา 2 เดือน(ก.ค.-ส.ค.)​ แต่ EXIM BANK จะขยายความช่วยเหลือจนถึงเดือนธ.ค.นี้

สำหรับผลการดำเนินงาน 7 เดือนแรกของปี 2564 EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 140,600 ล้านบาท เติบโตมากที่สุดใน 27 ปี ปริมาณธุรกิจด้านสินเชื่อ 104,210 ล้านบาท ปริมาณธุรกิจรับประกัน 111,387 ล้านบาท วงเงินอนุมัติใหม่ 29,503 ล้านบาท ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs)​ อยู่ที่ 3.89%

ส่วนการให้ความช่วยเหลือ 8 สายการบินหลัก EXIM BANK ให้ความช่วยเหลือแล้วโดยการเติมสภาพคล่องให้กับ 4 สายการบิน ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย ไทยสมายล์ บางกอกแอร์เวย์ และเวียตเจ็ท โดยขณะนี้มีสายการบินเข้ามาติดต่ออีก 2 สายการบิน ซึ่งธนาคารจะพิจารณาความช่วยเหลือที่แตกต่างกันแต่ละกรณีไป แต่ต้องยึดเงื่อนไขคงการจ้างงานไว้