ชี้เป้าททท.ปี 67 เพิ่มรายได้ 55 เมืองรอง 3 กลยุทธ์ WIN & DNA

แนะ ททท.ปี’67 ลุยทำ 2 โจทย์ใหญ่ “เพิ่มรายได้ 55 เมืองรอง” ทั้งประเทศให้เกิน 10% ปั้น Select เมืองรองนำร่อง 5 ภาค 10 จังหวัด เร่ง “กระจายเที่ยวไทย 365 วัน” ด้วยคอนเซปต์ WIN ผนวก DNA

  • “ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร” แนะปี’67 แนะใช้ 3 กลยุทธ์ ปั๊มนักท่องเที่ยวใช้เงินกระจาย 55 เมืองรอง
  • ชู 3 กลยุทธ์ “เพิ่มคุณค่าเที่ยวเชิงประสบการณ์-กระจายรายได้เท่าเทียม-เฟ้นหาทัวร์คุณภาพ
  • เพิ่มจุดขาย ซอฟท์ เพาเวอร์ เที่ยวไทยด้วย C&C ชุมชนผนวกวัฒนธรรม
  • ปั้นสินค้าใหม่ งัดใช้นวัตกรรมการตลาด สร้างกิจกรรมดึงนักท่องเที่ยวใช้เงิน

ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า แนวทางจัดการกระตุ้นโจทย์สำคัญทางการท่องเที่ยวปี 2567 ตามนโยบายรัฐบาลไทย 2 เรื่องหลัก คือ ขยายเศรษฐกิจการเติบท่องเที่ยว 55 เมืองรอง กับ 365 วัน เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน นั้นถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันเมืองรอง 55 จังหวัด มี “ส่วนแบ่งรายได้” ท่องเที่ยวรวมของทั้งประเทศเพียง 10% มีจำนวนนักท่องเที่ยวกระจายเดินทางประมาณ 30% แล้วนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเลือกเที่ยวเมืองหลัก 22 จังหวัด กวาดรายได้ไปถึง 90% จากจำนวนนักท่องเที่ยว 70% หากจะเพิ่มรายได้กระจายสู่เมืองรองมากขึ้น ควรจะใช้ 3 กลยุทธ์ ประกอบด้วย

กลยุทธ์ที่ 1 สร้างความคุ้มค่าทางประสบการณ์ผสมผสานกับการตลาดสมัยใหม่ อาจจะต้องใช้ Story Telling กลยุทธ์ 2 สร้างส่วนแบ่งรายได้และประโยชน์ให้พันธมิตรกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยวิธีคัดพื้นที่หรือทำ Select เมืองรอง ก่อน 10 จังหวัด จาก 5 ภาค ๆ ละ 2 จังหวัด ใช้เกณฑ์ความพร้อมทางด้านการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว กับโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ และการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น กลยุทธ์ที่ 3 ค้นหานักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเพื่อเพิ่มรายได้กระจายเข้าถึงแต่ละภาคส่วนในเมืองรอง ควบคู่กับหาวิธีเพิ่มวันพักเฉลี่ย เพิ่มการใช้จ่ายเงินและรายได้ มากขึ้นได้พร้อม ๆ กัน

รวมทั้ง ททท.ต้องเลือกใช้กลยุทธ์ “ทางการตลาด” ให้เหมาะสมสอดคล้องกับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายที่ชื่นนชอบสินค้าท่องเที่ยวเมืองรอง โดยค้นหากำลังซื้อคุณภาพเพื่อกระจายรายได้ แนะนำให้ใช้คอนเซ็ปต์ “WIN” ประกอบด้วย W :Worth สร้างความคุ้มค่ากระตุ้นคนออกไปเที่ยวเมืองรอง I : Inclusive กระจายรายได้เพิ่มขึ้นแต่ละภาคส่วนอย่างเป็นธรรม และ N : Niche ค้นหากลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการเพิ่มรายได้อย่างแท้จริง

ส่วน “สินค้าการท่องเที่ยว” ตอนนี้ถึงเวลาจะต้องหาสินค้าใหม่ ๆ สร้างเป็น New DNA ในเมืองรองขึ้นอย่างสร้างสรรค์ นั่นคือ D : Destination แสวงหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่น่าสนใจมากกว่าเดิม N : Nature หาแหล่งธรรมชาติ A : Activities หากสามารถผลิตกิจกรรมในเมืองรอง ช่วงฤดูที่มีคนเดินทางเข้าไปจำนวนน้อยแล้วขยายตลาดกระตุ้นกลุ่มครอบครัว ผู้หญิง Gen Y, Z เสริมจุดขายด้วยอาหารถิ่น กับแหล่งท่องเที่ยวใหม่สไตล์มนุษย์สร้างขึ้นนอกเหนือจากสวนสนุกก็คือ ร้านกาแฟเก๋ ๆ ถนนคนเดินต่าง ๆ ก็จะช่วยปิดจุดอ่อนเมืองรองได้

ส่วน “ตลาดต่างประเทศ” ททท.มีความพยายามต่อเนื่องมาตลอดที่จะขายเมืองรองกับทั่วโลก ซึ่งแต่ละจังหวัดได้รับความสนใจต่างกัน เช่น เรื่องศิลปะวัฒนธรรม แต่การรองรับคนจำนวนมาก ๆ เช่น จัดสัมมนา มีคนเข้าร่วมจำนวนมากปี 2567 อาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้างแต่ก็ยังมีโอกาสหากดึงความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวศิลปะวัฒนธรรมมาเป็นจุดขาย หรืออาหารท้องถิ่นน่าจะดึงความสนใจได้มากขึ้นจากการท่องเที่ยวเมืองรองของไทย

ดร.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า แนวทางกระตุ้นเมืองไทยท่องเที่ยวได้ทุกวัน ตลอด 365 วัน มีสินค้าตอบโจทย์คือ “ความแตกต่าง” เพียงแต่จะต้องเปลี่ยน “โปรดักซ์ แคตาล็อก” ให้เป็น “เมนูประสบการณ์” โดยเชื่อมั่นการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ไม่มีข้อจำกัดเรื่องฤดูกาล นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้ทั้งหมดทุกวัน ททท.อาจจะต้องเติมความเข้มข้นเข้าไปให้มากขึ้นอีก 2 ส่วน คือ C &C คือ C :Community ชุมชนท่องเที่ยว กับ C : Culture การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แล้วนำเสนอผ่านกิจกรรมมีส่วนร่วมอย่างแนะนำแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับ 3 Un (อัน) ได้แก่ 1.Unseen ไม่เคยเห็นมาก่อน 2.Untold ไม่เคยได้ยินมาก่อน 3.Un Box ประสบการณ์ใหม่ ๆ สิ่งเหล่านี้สามารถผสมผสานเรื่องราวให้กลายเป็น “แบรนด์ใหม่” ด้วยโปรดักซ์การท่องเที่ยวใหม่ก็จะกระตุ้นการเดินทางอย่างต่อเนื่องสำคัญที่สุดคือจะต้องบอกให้ชัดถึงการออกเดินทางท่องเที่ยวใน “ฤดูกาลที่แตกต่าง” ก็จะได้รับ “ประสบการณ์ที่แตกต่าง” ด้วย

สำหรับการปลุกกระแสท่องเที่ยว “ซอฟท์ เพาเวอร์” แต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวขาประจำอยู่แล้ว ฉนั้นจะต้องคัดช่วงวันหรือเดือนที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปจำนวนน้อยแล้วก็ต้องใส่กิจกรรมโดยนำเสนอขายในรูปแบบท่องเที่ยวงานเทศกาล/Festival จะช่วยกระตุกความสนใจให้คนหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่ได้ หรือจะใช้ซอฟท์ เพาเวอร์ บนพื้นฐาน C &C คือ Community กับ Culture ที่โดดเด่นอย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีวัฒนธรรมจัดงานเทศกาล“ฮีต 12 คลอง 14” ทุกเดือนเช่น จ.ร้อยเอ็ด มีงานประเพณีบุญผะเหวด เดือน 2-3 หากร้อยเรียงจังหวัดอื่นทำแบบนี้ต่อเนื่องได้ทุกเดือน ก็จะใช้ ซอฟท์ เพาเวอร์ ดึงดูดคนเข้าไปเที่ยวโดยค่อย ๆ กระจายเชิงพื้นที่เพิ่มเข้าไปอีกในแต่ละช่วงเวลาในอีสานได้เป็นอย่างดี รวมถึงภาคอื่น ๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน -เรื่องโดย เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน