WWF-ททท. งัด TRAVEL IVORY FREE หยุดทัวร์ต่างชาติซื้องาช้าง

WWF เมืองไทย ดึง ททท.รวม 13 พันธมิตร เร่งขยายผลแคมเปญ “TRAVEL IVORY FREE เที่ยวไทยไร้การซื้อขายงาช้าง” รณรงค์นักท่องเที่ยวทั่วโลกมาไทยห้ามซื้อขายเด็ดขาด พุ่งเป้า “ทัวร์จีน” หลังสำรวจพบยังซื้อโดยไม่รู้โทษจำคุก 10 ปี

  • WWF ททท.ลุยรณรงค์นักท่องเที่ยวต่างชาติเลิกซื้อของระลึกงาช้างไทยผิดกฎหมาย
  • ปี’67 ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ติดประกาศสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง

นางสาวพิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF ประเทศไทย) เปิดเผยว่า WWF ร่วมกับ 13 พันธมิตร รวมทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดทำแคมเปญ “TRAVEL IVORY FREE เที่ยวไทยไร้การซื้อขายงาช้าง” หลังจากเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ทางสาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศปิดตลาดการค้างาช้างในประเทศที่สุด ทำให้นักท่องเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางมาเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วซื้อผลิตภัณฑ์ทำจากงาช้างเพิ่มขึ้น และไทยเป็นประเทศที่จีนนิยมมาเที่ยวและซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้างมากที่สุดด้วย

จากผลสำรวจพบว่ามีนักท่องเที่ยวจีนยังคงนิยมซื้อผลิตภัณฑ์ทำจากงาช้างในไทยเพื่อเป็นการลดปริมาณความต้องการซื้อขายงาช้าง ทาง WWF ประเทศไทย จึงสร้างสรรค์แคมเปญนี้ขึ้นเพื่อสื่อสารและสร้างการรับรู้ในกลุ่มนักท่องเที่ยวว่าการซื้อขายงาช้าง และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับงาช้างมีความผิดตามกฎหมาย งานนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสนับสนุนเสมือนเป็นแรงผลักดันให้แคมเปญนี้สำเร็จด้วย ผนวกกับ WWF มุ่งขับเคลื่อนองค์การในมิติใหม่เดินหน้าพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม

ปี 2567 WWF ประเทศไทยยังคงทำการรณรงค์ต่อเนื่องลดความต้องการซื้อขายผลิตภัณฑ์จากงาช้าง โดยมีพันธมิตรเข้าร่วมสนับสนุนโครงการ ได้แก่ ททท. กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กรมการท่องเที่ยว และอื่น ๆ โดย GlobeScan ระบุไทยเป็นประเทศเป้าหมายที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาและซื้อผลิตภัณฑ์เป็นของฝากของที่ระลึก โดยเฉพาะผลสำรวจจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนบางส่วนไม่คิดซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้าง บางส่วนรับทราบเป็นสินค้าผิดกฎหมาย และยังมีนักท่องเที่ยวจีนบางส่วนเข้าใจว่าสามารถนำงาช้างออกนอกเมืองไทยได้ แต่ความเป็นจริงแล้วไม่สามารถทำได้

สำหรับกิจกรรมรณรงค์เที่ยวไทยไร้การซื้อขายงาช้างปี 2567 ทาง WWF ประเทศไทย สร้างสรรค์แคมเปญ”TRAVEL IVORY FREE” เพื่อสื่อสาร และใช้สื่อสร้างสรรค์ เหมาะสม เข้าใจได้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายดึงดูดความสนใจและการมีส่วนร่วมใน TRAVEL IVORY FREE เพิ่มการรับรู้ สื่อสารไปถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อสร้างความตระหนักรู้ และมีแนวทางปฏิบัติในเป็นนักท่องเที่ยวที่ดี มีความรับผิดชอบด้วยการไม่สนับสนุนซื้อสินค้าที่ทำมาจากงาช้าง

ขณะนี้ WWF ยังคงทำงานอย่างเข้มข้นเพื่อรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวทราบถึงการซื้อขายผลิตภัณฑ์จากงาช้างในไทยเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ปี 2567 จึงได้ออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ย้ำให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมายที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องรับทราบและระมัดระวัง

ข้อความตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ พ.ศ.2562 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เพิ่มบทลงโทษ กล่าวคือผู้ใดฝ่าฝืนนำเข้า หรือส่งออกซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ

สำหรับพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการนี้กับทาง WWF 13 หน่วยงาน ร่วมกันยืนยันว่า แคมเปญ “เที่ยวไทยไร้การซื้อขายงาช้าง” ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่ความยั่งยืนโดยเชิญชวนต่างชาติที่เดินทางมาไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมสร้างจิตสำนึกให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งในการดูแล อนุรักษ์ รักษาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางคุณภาพอย่างยั่งยืน จึงได้นำชิ้นงานประชาสัมพันธ์จาก WWF ประเทศไทย ใช้เผยแพร่ในพื้นที่ต่างๆ เช่น ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ผลักดันแคมเปญนี้เป็นพลังสำคัญช่วยพลิกฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวของไทยกลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนโดยอาศัยการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เข้ามาขับเคลื่อนเพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดี เพราะไทยถือเป็นประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลายและแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์ ดังนั้นการปลูกฝังจิตสำนึกอนุรักษ์สมบัติทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และธรรมชาติอย่างเหมาะสมในทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง การเดินหน้าเชิงรุกอย่างสม่ำเสมอจะช่วยสร้างแรงกระตุ้นต่อเนื่องทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทาน ให้ตระหนักถึงการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ดึงดูดกลุ่มคนคุณภาพให้มาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น จะเป็นผลดีต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจภาพรวม-เรื่องโดย เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน