ไทยทุบสถิติปี 66 โลเคชั่นถ่ายทำหนังโลกโกย 6.6 พันล้าน

กรมการท่องเที่ยว โชว์สถิติปี 66 ไทยทุบสถิติประเทศผู้นำโลเกชั่นถ่ายทำหนังทั่วโลกกวาดรายได้กว่า 6,602 ล้านบาท จาก 466 เรื่อง “หัวลำโพง” นำกรุงเทพฯ แชมป์ 282 เรื่อง สานฝันซอฟท์ เพาเวอร์ Film Location ดึงต่างชาติเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ในไทยโตแรง

  • ไทยปลื้ม!! ทุบสถิติผู้นำฟิล์มโลเกชั่นถ่ายทำหนังอินเตอร์ ปี’66 โกยเพิ่มเกือบ 2 พันล้าน
  • เปิดทำเลทองฮ็อตสุดในไทย กรุงเทพฯ ชลบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี ภูเก็ต

นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ทางกรมการท่องเที่ยวมีรายงานสถิติของต่างประเทศเลือกไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์นานาชาติปี 2566 ของกรมการท่องเที่ยวตามข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ทั่วโลกเข้ามาถ่ายทำ 40 ประเทศ รวมทั้งหมด 466 เรื่อง กระจายใช้เงินลงทุนเข้าสู่การท่องเที่ยวทั่วเมืองไทยในภาพรวมกว่า 6,602 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 เกือบ 2,000 ล้านบาท โดยไทยได้รับความสนใจและใช้เงินลงทุนมากที่สุด อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา 34 เรื่อง ใช้เงินลงทุนกว่า 3,184 ล้านบาท อันดับ2 เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ใช้เงินลงทุนกว่า 707 ล้านบาท และรองลงไปตามลำดับอีก 3 ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน เยอรมนี เกาหลี

ปัจจัยบวกที่ส่งผลดีทำให้สถานที่ท่องเที่ยวของไทยเป็นทำเลในตลาดถ่ายทำภาพยนตร์หรือ Film Location เนื่องจากรัฐบาลกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย หรือ Incentive Measure สร้างแรงจูงใจในรูปแบบคืนเงินสูงสุด 20% กระตุ้นให้กองถ่ายทำภาพยนตร์นานาชาติตัดสินใจเข้ามาลุงทุนถ่ายทำในไทยเติบโตอย่างมีนัยสำคัญตลอดปีที่ผ่านมา

สำหรับกองกิจการภาพยนตร์และวิดีทัศน์ต่างประเทศ (TFO Thailand Film Office) ได้จัดอันดับในประเทศที่ผู้สร้างภาพยนตร์ทั่วโลกนิยมเลือกทำเลถ่ายทำมากที่สุด 5 จังหวัดแรก ประกอบด้วย

อันดับที่ 1 กรุงเทพมหานคร จำนวน 282 เรื่อง เช่น วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร สถานีรถไฟหัวลำโพง และอื่นๆ

อันดับที่ 2 ชลบุรี จำนวน 77 เรื่อง เช่น ถนนเรียบชาดหายพัทยา เกาะล้าน เกาะสีชัง

อันดับที่ 3 สมุทรปราการ จำนวน 60 เรื่อง เช่น เมืองโบราณ The Studio Park ท่าเรือศุภนาวา

อันดับที่ 4 ปทุมธานี จำนวน 52 เรื่อง เช่น ACTS Studio มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต

อันดับที่ 5 ภูเก็ต จำนวน 47 เรื่อง เช่น หาดพาราไดซ์ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี

นายจาตุรนต์ กล่าวว่านอกจากมาตรการส่งเสริมแรงจูงใจแล้ว การที่คณะจากต่างประเทศทั่วโลกเลือกเดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง ช่วยตอกย้ำถึงศักยภาพของประเทศมีขีดความสามารถพร้อมเป็นโลเคชั่นดังกล่าวตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้สร้างหนังได้เป็นอย่างดี กระจายรายได้สู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผนวกกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ก่อให้เกิดห่วงโซ่ในระบบเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งเด่น 4 เรื่อง ได้แก่

เรื่องที่ 1 การจ้างงานทีมคนไทย เรื่องที่ 2 ใช้จ่ายเงินเช่าสถานที่และอุปกรณ์การถ่ายทำ เรื่องที่ 3 เพิ่มรายได้สู่อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร สินค้าท้องถิ่น และอื่น ๆ เรื่องที่ 4 ประชาสัมพันธ์ซอฟท์ เพาเวอร์ 1 ใน 5F คือ F:Film ด้านต่าง ๆ ของเมืองไทยผ่านกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ สร้างการรับรู้สู่สายตาผู้ชมทั่วโลกทำให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวจากนานาประเทศหันมาเลือกเดินทางตามรอยการถ่ายทำภาพยนตร์ในอนาคตเข้ามายังไทยเพิ่มขึ้นตามนโยบายรัฐบาลต่อไป -เรื่องโดย เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน