“สุริยะ” จ่อขึ้นแบล็กลิสต์ผู้รับสัมปทาน เหตุล้อรถไฟฟ้าสีเหลืองหลุด

“สุริยะ-สุรพงษ์” แถลงข่าวด่วนขอโทษประชาชน เหตุปมล้อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองร่วงหล่น ด้านคมนาคมพร้อมหันมาทบทวน สร้างโมโนเรลในโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ หลังเกิดเหตุซ้ำสองเดือนติด

  • “สุรพงษ์” ลั่นเหตุล้อรถไฟฟ้าร่วงเกิดจากข้อบกพร่องจากโรงงานผลิต พร้อมสั่งระงับใช้ทั้งล็อต เร่งสอบเชิงลึก 
  • เข้มบทลงโทษหากเกิดข้อผิดพลาดจะพิจารณาขึ้นแบล็คลิสต์ผู้ประกอบการ 
  • ขณะที่ยังไม่ได้ข้อสรุปจะเปิดให้ประชาชนใช้ฟรีถึงวันศุกร์ ก่อนกลับมาเก็บเงินในวันที่ 6 ม.ค.67 
  • ด้านขนส่งทางราง สั่งบริษัท Alstom (ผู้ผลิต) อะไหล่ เปลี่ยนอะไหล่ชุดล้อทั้งหมดใน 6 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงคมนาคม วันนี้ (3 ม.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม พร้อมด้วยนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ได้แถลงข่าวร่วมกันภายหลังประชุมร่วมกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.), กรมการขนส่งทางราง(ขร.) ,  บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง เพื่อกำหนดมาตรการไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นซ้ำอีก ภายหลังเหตุล้อประคองรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุดร่วงลงมาใส่รถแท็กซี่บริเวณถนนเทพารักษ์ซึ่งอยู่ระหว่างสถานีทิพวัล (YL22) และสถานีศรีเทพา (YL21) เมื่อเวลา 18.21 น. วันที่ 2 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมารถ โดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งในการแถลงข่าวนายสุริยะ พร้อม นายสุรพงษ์ ได้แสดงความเสียใจ และขอโทษประชาชนกับเกิดเหตุการณ์ซ้ำ โดยจะเร่งตรวจสอบเพื่อสร้เงความมั่นใจให้กับผู้โดยสารและผู้ใช้ทางด้านล่าง

. “สุริยะ-สุรพงษ์” ขอโทษประชาชนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ตนขอโทษและขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดเหตุได้ลงพื้นที่ทันทีเมื่อได้รับรายงานซึ่ง ได้เน้นย้ำกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าจะต้องหาทางไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอีกเพราะทำให้ประชาชนไม่สบายใจ  ซึ่งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเป็นเรื่องการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน หรือ Preventing Maintenance ที่อาจไม่เพียงพอ หย่อนยานไปหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบข้อสัญญาด้วยว่าต้องมีการลงโทษผู้ให้บริการอย่างไร

“กระทรวงคมนาคมขอยืนยันความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และจะดำเนินทุกมาตรการไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกทั้งการป้องกัน ตรวจสอบในเรื่องอุบัติเหตุของระบบคมนาคมรวมถึงอุบัติเหตุในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างทำมาตรการควบคุมการทำงาน  และหารือกับกรมบัญชีกลาง ในการกำหนดเกณฑ์ออกมาให้ชัดเจนภายใน 2 เดือนนี้ โดยจะทำเป็นสมุดพกบันทึกการทำงานผลงานของเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับทุกหน่วยงานของกระทรวง หากทำงานมีปัญหาก็จะถูกตัดคะแนน หรือหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดจะนำไปสู่การลงโทษ เช่น ห้ามเข้าร่วมประมูลงานของกระทรวงฯ และจะมีการลดลำดับชั้นผู้รับเหมา เป็นต้น  ซึ่งการมีสมุดพกคาดว่าจะทำให้ผู้รับสัมปทานรักษากฎเกณฑ์ และรอบคอบให้มากขึ้น เพราะเชื่อว่าเอกชนคงไม่อยากถูกขึ้นบัญชีดำ

ทั้งนี้ สาเหตุเบื้องต้นพบว่าเกิดจากเบ้าลูกปืน (Bearing) ของล้อประคอง (Guide Wheel) เสียหาย ทำให้ล้อประคองหลุดร่วงลงมา ซึ่งขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ประสบเหตุเป็นขบวนใหม่ จากการตรวจสอบประวัติการซ่อมบำรุง (Maintenance Log) พบว่า มีการซ่อมบำรุงตามรอบวาระโดยสม่ำเสมอ (ประจำวัน ประจำสัปดาห์ และวาระตรวจละเอียดทุก 15 วัน) ปัจจุบัน บริษัท Alstom (ผู้ผลิต) อยู่ระหว่างตรวจสอบชุดล้อประคองที่หลุดออกมา เพื่อหาสาเหตุโดยละเอียดต่อไป

.พบปัญหาการผลิตจากโรงงาน สั่งหยุดใช้งานทั้งล็อต

ด้านนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุ จากการตรวจสอบพบว่าวงรอบชั่วโมงการใช้งานจะอยู่ที่ 320,000 กม. แต่ปัจจุบัน การใช้งานอยู่ที่ 60,000 กม.เท่านั้น ซึ่งสาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้ล้อประคองหลุดได้ข้อสรุปว่าเป็นปัญหาข้อบกพร่องที่เกิดจากการผลิตที่โรงงาน ซึ่งได้มีคำสั่งหยุดการนำใช้งานอุปกรณ์ที่อยู่ในล็อตดังกล่าวแล้ว ส่วนข้อสันนิษฐานว่าล้อหลุดเกิดจากความร้อน ตนยังไม่แน่ใจต้องตรวจสอบละเอียดก่อน คาดว่าจะเป็นเฉพาะบางอันแต่ระงับใช้ไปแล้ว ซึ่งจะต้องตรวจสอบพิสูจน์เชิงลึกต่อไปว่าเป็นเรื่องเบ้าลูกปืน หรือความร้อน อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ของโลก จากที่ก่อนหน้านี้เกิดขึ้นที่ประเทศบราซิล และจีน ก่อนมาเกิดเหตุที่ไทย

ส่วนรถที่วิ่งให้บริการตอนนี้จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ 100% ทุกระบบ ยืนยันว่าปลอดภัย โดยได้มีการสั่งการให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เข้าร่วมกับ EBM ในการตรวจเช็กระบบโดยละเอียดทุกขบวนก่อนนำออกวิ่งบริการ อย่างไรก็ตามการให้บริการในวันที่(3 ม.ค.) ได้นำขบวนรถที่ได้รับการตรวจสอบว่า มีความมั่นคงปลอดภัยมาให้บริการจำนวน 6 ขบวน (ปกติวิ่ง 21 ขบวนจากทั้งหมด 30 ขบวน) โดยปรับรูปแบบการให้บริการโดยมีความถี่ทุก 30 นาที จนถึงวันที่ 6 ม.ค. 67 ที่จะมีการตรวจสอบจนครบและทยอยปรับความถี่ในการให้บริการจนเป็นปกติ (ทุก 5-10 นาที) ภายในวันที่ 8 ม.ค. 67 ทั้งนี้จะให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฟรีโดยไม่คิดค่าโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. ถึง 5 ม.ค. 67 และหากเกิดข้อผิดพลาดในการเก็บค่าโดยสารไปแล้ว สามารถเรียกขอเงินคืนได้ทันที จะจะกลีบมาเก็บค่าโดยสารในวันที่ 7 ม.ค.67

สำหรับแนวทางการป้องกัน ได้สั่งการให้งดใช้ขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ใช้ชุดแคร่ล้อ (Bogie) ในล็อตเดียวกับขบวนที่เกิดเหตุและตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงร่วมกับผู้ผลิต เพื่อดำเนินการแก้ไขและป้องกันให้ถูกจุดต่อไป และเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบเบ้าลูกปืนของล้อต่างๆ เพิ่มเติมจากการตรวจตามวาระปกติ ก่อนนำขบวนรถไฟฟ้าขึ้นมาให้บริการประชาชน ส่วนมาตรการระยะยาวคือให้เร่งรัดการออกพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. เพื่อใช้ในการกำกับดูแล ด้านความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และสามารถกำหนดบทลงโทษ และการชดเชยแก่ผู้โดยสารและผู้ได้รับผลกระทบ

“กรณีสายสีชมพูที่เกิดเหตุก่อนหน้านี้ เป็นจากอุบัติเหตุที่มีการดึงแผ่นเหล็กด้านล่าง แต่สายสีเหลืองนี้ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องของระบบจริงๆ ซึ่ง รถไฟฟ้าที่เป็นระบบโมโนเรลล้อจะอยู่ด้านนอก ไม่เหมือนรถไฟฟ้าเฮฟวีเรล ดังนั้นต้องหาวิธีหรืออุปกรณ์ที่จะปกป้องล้อ หรือทำอย่างไรเพื่อให้ด้านใต้โครงสร้างมีความปลอดภัย” 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตุกันว่านโยบายกระทรวงคมนาคมจะมีการทบทวนการสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลในโครงการเฟสต่อๆไปของกระทรวงคมนาคมหรือไม่นั้น ในเรื่องนี้เป็นคำถามส่วนตัวผมว่ารถไฟฟ้าโมโนเรลเหมาะกับประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องศึกษาดูถึงข้อดี ข้อเสีย ความเหมาะสมต่อไป

ด้านนายพิเชษ คุณธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า  ขณะนี้ได้สั่งให้บริษัท Alstom ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิต อะไหล่ เปลี่ยนอะไหล่ชุดล้อทั้งหมดของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่มีปัญหาใน 6 เดือน ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำให้ผู้รับสัมปทานเพิ่มความระมัดระวังในการบริการมากขึ้น