ททท.ปั้นซอฟท์พาวเวอร์อาหารพะเยาปี’67โต10%

ททท.ลุยต่อยอดครม.สัญจรเปิดตัวชุมชนดาวรุ่ง “เวียงลอ” โมเดลซอฟท์พาวเวอร์ท้องถิ่นสู่ตลาดระดับประเทศ นายกฯเศรษฐาปลื้มโปรโมทเมืองอาหารอร่อยปี’67 ดันรายได้ท่องเที่ยวโต 10 % เที่ยวได้ 365 วัน

  • ททท.ปั้นซอฟท์เพาเวอร์อาหารพะเยาเพิ่มรายได้ใหม่ชุมชน 2 อาชีพซาลาเปาคราฟท์
  • ปี’67 ตั้งเป้านำท่องเที่ยวสร้างเงินสะพัดทั้งจังหวัดกว่า 2,500 ล้านบาท  

นางสาวสมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.วางกลยุทธ์ต่อยอดซอฟท์ เพาเวอร์ ท่องเที่ยวทันทีหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ภาคเหนือตอนบน 2 ยกระดับพะเยาเป็นเมืองอาหารอร่อย พร้อมกับเปิดตัวพื้นที่ดาวรุ่งแห่งใหม่ “ชุมชนเวียงลอ” เพิ่มรายได้การท่องเที่ยวเมืองรองในอนาคตเติบโตได้เป็นอย่างดี โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมรัฐมนตรีจากทุกกระทรวง ให้ความสนใจแวะเยี่ยมชมบูธระหว่างงาน ครม.สัญจร พร้อมด้วยรัฐมนตรีจากทุกกระทรวงก็สลับกันมาบูธนี้ด้วย แผนงานยกระดับชุมชนเวียงลอและอาหารอร่อยจะสอดคล้องตามเป้าหมายปี 2567 ที่ ททท.ตั้งเป้าผลักดันการท่องเที่ยวพะเยาปี 2567 ให้มีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นอีก 10 % หรือคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 2,500 ล้าน บาท จากปี 2566 ทำไว้ 2,292 ล้านบาท แล้วยังจะเร่งส่งเสริมให้ท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี 365 วัน

สำหรับ “เวียงลอ” เป็นพื้นที่มีเศรษฐกิจชุมชนโดดเด่นที่หลายฝ่ายพร้อมจะร่วมมือกันผลักดันเพิ่มรายได้เสริมจากอัตลักษณ์พื้นที่ 2 อาชีพ ได้แก่ อาชีพแรก การทำผลิตภัณฑ์จักรสานไม้ไผ่เป็นมาลัยกับตุงส่งขายตามงานบุญสำคัญทั่วภาคเหนือ โดยมีการจัดงานเวียงลองคราฟท์รายได้เกินกว่า 800,000 บาท/ปี อาชีพที่สอง ทำซาลาเปาแบรนด์ “พญาลอ” ไส้หมูกับไส้ถั่วแดงทำจากแป้งหมักนุ่มเป็นสูตรเฉพาะของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ใช้รถมอเตอร์ไซต์พ่วงข้างตะเวนขายทั่วจังหวัด มีรายได้เฉลี่ย 300,000 บาท/ปี พร้อมกับเปิดอบรมสอนอาชีพทำซาลาเปากับคนทั่วไปด้วย ราคาคนละ 600 บาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้นำชิมซาลาเปาพร้อมกับมอบลายเซ็นลงบนป้ายพญาลอ เพื่อนำไปโปรโมทร้านในชุมชนต่อไป  

นางสาวสมฤดี กล่าวว่า ททท.พร้อมจะขยายผลการท่องเที่ยว ซอฟท์ พาวเวอร์ พะเยา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีจุดขายเด่นเป็นเมืองแห่งอาหารอร่อย ร้านต่าง ๆ เลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่น มีส่วนช่วยลดโลกร้อน ลดขั้นตอนการขนส่งสินค้าหรือโลจิสติกส์ โดยเฉพาะบริเวณอำเภอเมืองมีร้านไฮไลต์ยอดนิยมของนักท่องเที่ยว ได้แก่ 1.ร้านโพธิ์ทอง ร้านข้าวต้มประจำเมืองที่โด่งดัง ด้วยเมนู ดอกกะหล่ำนานกิงผัดแห้ง ผัดมะเขือยาว หมูสามชั้นแท่งชุบแป้งทอดกรอบนอกนุ่มใน 2.ร้านถ้วยก๋าไก่ นำเสนออาหารเหนือพื้นเมืองรสชาติจัดจ้านเข้มข้น เช่น ลาบปลานิลมีชื่อเสียงเลี้ยงในพื้นที่จำนวนมาก แกงแค แกงโฮะ แกงฮังเล น้ำพริกอ่อง ข้าวเหนียวนุ่ม 3.ร้านอันเจริญ ต้นตำรับน้ำซุบรสเด็ดทั้งก๋วยเตี๋ยวหมู เนื้อ 4.ร้าน ยู แอนด์ สเต็กส์ ลงทุนโดยเชฟซึ่งเป็นนายกสมาคมภัตตาคารและร้านอาหารพะเยา รังสรรค์เมนูฟิวชั่นผสมผสานสเต็กเนื้อ ปลา พร้อมสลัด ผัดไทย อาหารตามสั่งรสชาติล้ำอย่างหลากหลาย และสินค้าขึ้นชื่ออีกรายการคือ“ปลาส้ม” ทำจากปลาจีน ทั้งอำเภอมีผู้ผลิตรายย่อยขาย 2 แบบ แบบเป็นตัวกับแบบขูดเนื้ออัดแท่ง

 รวมทั้งมีร้านกาแฟยอดนิยมชื่อโรงคั่วกาแฟพะเยา” ลงทุนพัฒนาโรงคั่วอยู่ในพื้นที่นำเมล็ดจากแหล่งปลูกทางเหนือและต่างประเทศมาคั่วโดยมีสารพัดกาแฟบรรจุถุงจำหน่ายหลายขนาด ไฮไลต์กาแฟหมักรสบรั่นดีขายแบบบรรจุภัณฑ์ หรือชงขายพร้อมเสิร์ฟนักท่องเที่ยว 

ต่อด้วย “ผลไม้”  พะเยามีลิ้นจี่พันธุ์ “ฮงฮวย” ปลูกในดินภูเขาบ้านปางภูเลาะ อำเภอแม่ใจได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าบ่งบอกทางภูมิศาสตร์หรือ GI ลูกละ 30 บาท จะเริ่มออกเดือนกรกฎาคมของทุกปี จะมีคนแห่ไปจองหนาแน่นทุกปี

ปิดท้ายด้วยแฟชั่นพื้นเมือง “ผ้าฝ้าย” มีชุมชนต่าง ๆ มีฝีมือการผลิตละเอียดปรานีตพร้อมมีรับบริการตัดเย็บชุดสำเร็จสไตล์ภาคเหนือ ซึ่งทางผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมคณะ ครม.สัญจร ครั้งนี้ แห่สั่งจองซื้อชุดสำเร็จรูปกันเป็นจำนวนมาก 

นางสาวสมฤดี กล่าวว่า ปี 2567 การท่องเที่ยวพะเยายังมีโอกาสเติบโตสูงเนื่องจากมีแม่เหล็กเรื่องอาหาร แฟชั่นพื้นเมือง แหล่งท่องเที่ยวเด่น ๆ เส้นทางธรรมชาติอุทยานแห่งชาติ กับเส้นทางาสายศรัทธา มีวัดสำคัญที่มีชื่อเสียงกระจายอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าถึงพะเยาได้หลายช่องทาง เช่น รถบัสประจำทางจากกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ 105 เที่ยว/สัปดาห์ รถตู้จากเชียงราย แพร่ ลำปาง  105 เที่ยว และกำลังเสนอสร้างสนามบินพะเยาอย่างเป็นรูปธรรมเพิ่มความสะดวกสบายในอีก 3 ปีข้างหน้าด้วย -เรื่องโดย เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน