ใครจะผ่าทางตัน บอร์ด กสทช.แตกร้าวหนัก งานไม่เดิน ผลงานไม่มี

ประเด็นการเลือกเลขาฯกสทช. กลายเป็นประเด็นแตกหัก 2 กลุ่มมีความเห็นไม่ตรงกัน ทำให้การประชุมบอร์ดล่มแล้วล่มอีก

  • ความแตกแยก แตกร้าวหนักมาก
  • แบ่งเป็น 2 กลุ่มลุกลามบานปลายกันไม่จบสิ้น
  • กระทบต่อแผนงานการทำงานทั้งหมด

ความแตกแยกของ 7 กรรมการในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือ บอร์ด กสทช. ที่แบ่งเป็น 2 กลุ่มลุกลามบานปลายกันไม่จบสิ้น กระทบต่อแผนงานการจัดทำโครงการทั้งเก่าและใหม่ การจัดสรรงบประมาณ การโยกย้ายพนักงาน และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เนื่องจากแผนงานแต่ละด้านไม่ได้รับการพิจารณา ผลักดัน ติดตามผลตามมติบอร์ด

บอร์ด กสทช.ชุดนี้ เริ่มงานครั้งแรก จำนวน 5 คน เมื่อเดือน 23 เม.ย.2565 ประกอบไปด้วย นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ( ด้านคุ้มครองผู้บริโภค) นายศุภัช ศุภชลาศัย กสทช. (ด้านเศรษฐศาสตร์) น.ส.พิรงรอง รามสูต กสทช. (ด้านกิจการโทรทัศน์) พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. (ด้านกิจการกระจายเสียง) และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน)โดยทั้ง 5 คนประชุมร่วมกัน เสียงส่วนใหญ่โหวตให้ นพ.สรณ เป็นประธาน กสทช.

สถานการณ์ยุคบอร์ด 5 คน เริ่มแตกแยกในประเด็นเรื่องการควบรวมกิจการสองค่ายมือถือรายใหญ่ ทรูและดีแทค ในรูปแบบ เสียง 2:2:1 ( นพ.สรณ-ต่อพงศ์) เห็นด้วย : (ศุภัช-พิรงรอง) ไม่เห็นด้วย : (พล.อ.ท.ธนพันธ์) งดออกเสียง จนนพ.สรณ ใช้สิทธิ์ความเป็นประธานในการ “ดับเบิลโหวต” ทำให้บอร์ดกสทช.อนุมัติดีลควบรวมไปเมื่อ 20 ต.ค.2566 พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร (ด้านกฏหมาย) กสทช.คนที่ 6 มาในวันที่ 22 ต.ค.2565 บอร์ด กสทช. แบ่งเป็น 2 กลุ่มชัดเจน เสียงเท่ากัน 3:3 ทำให้ประธานสามารถใช้สิทธิ “ดับเบิลโหวต” ได้อีก

ต่อมา กสทช.คนที่ 7 นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ (ด้านโทรคมนาคม) ในวันที่ 18 ต.ค. 2566 สถานการณ์พลิกมาเป็นบอร์ดที่มีเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย เมื่อนายสมภพเข้ารวมอยู่ในกลุ่มเสียงข้างมาก รวมเป็น 3 กสทช.นักวิชาการและ 1 กสทช.สายทหาร ในขณะที่ กลุ่มเสียงข้างน้อย มีประธาน นพ.สรณ นำทีม

ประเด็นการเลือกเลขาฯกสทช. กลายเป็นประเด็นแตกหัก 2 กลุ่มมีความเห็นไม่ตรงกัน ทำให้การประชุมบอร์ดล่มแล้วล่มอีก ทั้งจากกลุ่มที่พยายามหลีกเลี่ยงวาระการเลือกเลขาฯ และกลุ่มที่พยายามนัดประชุมในวันที่คิดว่าองค์ประชุมจะไม่ครบ เพื่อจะได้คะแนนเสียงมากกว่า จนทำให้มีวาระประชุมตกค้างจำนวนมาก

ภารกิจของ กสทช. มีความเกี่ยวพันกับสภาพตลาด การแข่งขันทางธุรกิจของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียง ทุกการเคลื่อนไหวมีความเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและลบจากการตัดสินของบอร์ด กสทช. ดังนั้นความขัดแย้งของบอร์ด กสทช. ที่มีอยู่ขณะนี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องของบอร์ดแต่ละกลุ่มที่มีความเห็นไม่ตรงกันเท่านั้น

ที่มา และเบื้องหลังกระบวนการปล่อยข่าว สาดโคลนกันทั้งสองกลุ่ม จึงโยงใยกับทั้งภาคธุรกิจและบรรดาผู้สนับสนุนเบื้องหลังด้วยเช่นกัน

สถานการณ์ภายในบอร์ด กสทช. 7 คน 2 กลุ่ม กำลังเข้าสู่ทางตัน แต่ล่าสุด มี 2 กลุ่มที่เสนอตัวเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ทั้งจากฝั่งรัฐบาล และวุฒิสมาชิก

ฝั่งรัฐบาล มีความเคลื่อนไหวโดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่เสนอว่าจะให้นายกรัฐมนตรีเป็น “ตัวกลาง” เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

ฝั่งวุฒิสมาชิก โดยกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม รับเรื่องจากนายภูมิสิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการกสทช. ที่ร้องเรียนประธานวุฒิสภา ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ นพ.สรณ ประธาน กสทช. ที่อาจจะมีคุณสมบัติต้องห้ามตามม.7 ข.(12)  และกระทำการฝ่าฝืนตามม.8 และ 18 รวมถึงไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ตามม. 26 แห่งพรบ.กสทช. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งหากปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ย่อมส่งผลให้นพ.สรณ พ้นจากตำแหน่งบอร์ดกสทช.

พร้อมทั้งยื่นหลักฐานเอกสารว่า รายงานประจำปีของธนาคารกรุงเทพ (BBL) เมื่อเดือน มี.ค.65 แสดงรายชื่อกรรมการของบริษัท มีชื่อ นพ.สรณ นั่งเป็นกรรมการ ทั้ง ๆ ที่เป็นนพ.สรณ ได้รับคัดเลือกจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการ กสทช. เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.64 ซึ่งนพ.สรณ เป็นบอร์ดแบงค์กรุงเทพ ตั้งแต่ 26 ส.ค.62 และลาออกเมื่อวันที่ 14 ม.ค.65 แต่ผู้ได้รับคัดเลือกจาก สว.ให้เป็นประธาน กสทช.จะต้องลาออกจากตำแหน่งอื่นไม่เกิน 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด และต่อมา นพ.สรณ ยังได้รับการเสนอชื่อในที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีครั้งที่ 29 วันที่ 12 เม.ย.65 ให้เป็นกรรมการแบงค์กรุงเทพอีกครั้ง นอกจากนั้น ปัจจุบัน นพ.สรณ ยังคงเป็นแพทย์สาขาวิชาโรคหัวใจ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ซึ่งมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธาน กมธ. ได้มีการประชุมครั้งที่ 42/2566 เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.66 มีมติรับเรื่องไว้พิจารณา โดยมอบหมายคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการโทรคมนาคม ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูลเบื้องต้น โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการภายใน 60 วัน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ก.พ.2567

สองเส้นทางของฝ่าย “ตัวกลาง” เป็นเส้นทางความหวังยุติความแตกแยกที่แตกต่างกัน แนวทางแรก การหวังพึ่งพานายกรัฐมนตรี เป็นแนวทางที่ดูเหมือนว่า เบื้องต้นหวังจะประนีประนอม หาทางออกร่วมกัน หรือหาทางแก้ไขทางกฏหมายเปลี่ยนแปลงสถานะองค์กร กสทช.ในระยะยาวก็เป็นไปได้

ในขณะที่แนวทางที่สอง จากฝั่งวุฒิสภา เป็นแนวทางที่หวังสลายขั้ว หากผลการสอบสวนพบว่านพ.สรณ ผิดจริง ต้องมีกระบวนการสรรหาบอร์ด กสทช.ใหม่แทนที่นพ.สรณ และต้องโหวตเลือกประธาน กสทช.กันใหม่

หากนพ.สรณต้องหลุดจากตำแหน่ง ทีมที่ปรึกษากุนซือรอบข้าง บทบาทสูงของนพ.สรณ ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่จุดประเด็นความขัดแย้งภายในบอร์ด ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งเช่นกัน ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่า จะสลายขั้ว 2 กลุ่ม รูปแบบการทำงานในบอร์ดอาจเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใหม่ได้อีก

สถานการณ์ในขณะนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องมี “คนกลาง”มาช่วยจัดการ แต่สุดท้ายผลสำเร็จจะเกิดจาก “คนกลาง” หรือแนวทางไหนนั้น ต้นปีหน้าน่าจับตามองอย่างยิ่ง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในบอร์ดกสทช.ได้หรือไม่ อย่างไร และจากใคร

อาจจะเริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้บ้างแล้ว