ป.ป.ช.จัดเต็ม 8 ข้อเสนอแนะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะกรณีนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้รัฐบาล

ป.ป.ช.จัดเต็ม 8 ข้อเสนอแนะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ประธานป.ป.ช.ลงนามส่งตรงถึงนายกฯเศรษฐาแล้ว ตีกันทุจริตเชิงนโยบายให้นายทุน

  • ชี้ผลศึกษาเวิลด์แบงก์-ไอเอ็มเอฟ ระบุเศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤตแค่ชะลอตัวเท่านั้น
  • แนะกกต.เข้าตรวจสอบนโยบายตอนหาเสียงกับตอนแถลงต่อสภาไม่ตรงปกหรือไม่
  • ประธานป.ป.ช.ลงนามในหนังสือที่จะส่งไปให้นายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว
  • ทุกอย่างถ้ามีเหตุมีผลชี้แจงได้ รัฐบาลก็สามารถขับเคลื่อนไปได้

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงข่าวกรณีนโยบายเกี่ยวกับการเติมเงิน 10,000 บาท ดิจิทัลวอลเล็ต ว่า มีผู้ร้องให้ป.ป.ช.ตรวจสอบโครงการดังกล่าว โดยป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2561 มาตรา 32 ระบุว่า

มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี องค์กรอิสระ ศาล การวางแผนงานโครงการของรัฐวิสาหกิจฯลฯ เพื่อป้องกันการทุจริต การทำผิดต่อหน้าที่ ซึ่งเป็นโครงการมูลค่าสูง อาจสร้างผลกระทบกับทุกภาคส่วนและอาจสร้างภาระการคลังในระยะยาวได้ ทางคณะกรรรมการป.ป.ช.จึงมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีเติมเงิน 10,000 บาท ดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อศึกษาความเสี่ยง ผลกระทบ ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ โดยศึกษารวบรวมข้อเท็จจริงจากเอกสาร และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล จากหน่วยงานราชการและหน่วยงานอื่น นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จากการศึกษามี 4 ประเด็นหลัก

1.ความเสี่ยงต่อการทุจริต เช่น เป็นความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย ความเสี่ยงการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการ

2.ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและภาระทางการเงินการคลังในอนาคต และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้ภาวะเศรษฐกิจ

3.ความเสี่ยงด้านกฎหมาย รัฐบาลควรตระหนักและใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ชัดเจนโปร่งใส ปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังภาครัฐ พ.ศ.2561 พ.ร.บ.เงินคงคลังพ.ศ.2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและระเบียบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

4.ประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน และประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง ในการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2567 เห็นว่า ควรมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายกรณีเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาตามควรต่อกรณีในการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตหรืออาจเกิดเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐ หรือประชาชน

ทั้งนี้ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะ 8 ข้อ ดังนี้

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะกรณีนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้รัฐบาล

1.รัฐบาลควรศึกษาวิเคราะห์การดำเนินโครงการตามนโยบายรวมทั้งชี้แจงอย่างชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม ว่าผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการจะไม่ตกแก่นักการเมือง พรรคการเมือง หรือ เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพ มากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย รวมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ ควรเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการของรัฐบาลอย่างแท้จริง เช่น เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเปราะบาง พร้อมกับมีขั้นตอน วิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อให้สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะกรณีนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้รัฐบาล

2.การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 และเมื่อพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2566 ตามโครงการดังกล่าว ซึ่งมีความแตกต่างกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หรือไม่มาพิจารณาด้วย มิฉะนั้นอาจจะเป็นบรรทัดฐานกับพรรคการเมืองที่หาเสียงไว้อย่างไร แต่เมื่อได้รับการเลือกตั้งแล้วไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่หาเสียงไว้

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะกรณีนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้รัฐบาล

3.การดำเนินนโยบายที่รัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ควรคำนึงถึงความคุ้มค่า ความจำเป็นของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบต่อภาระการเงินการคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส ความถ่วงดุล การรักษาความมั่นคงของระบบการคลังและความคล่องตัว ซึ่งรัฐบาลพึงใช้ความระมัดระวังพิจารณาผลดีผลเสีย ที่จะต้องกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท ขณะที่ตัวทวีคูณมีเพียง 0.4 การกู้เงินจึงเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้เป็นระยะเวลา 4-5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะกรณีนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้รัฐบาล

4.การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงข้อกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พระราชบัญญัติเงินตรา ตลอดจนกฎหมายและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะกรณีนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้รัฐบาล

5.คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประเมินความเสี่ยงโครงการเติมเงิน 10,000บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต อย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการบริหารความเสี่ยงหรือมาตรการป้องกันการทุจริต ตลอดจนมีกระบวนการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังดำเนินโครงการ ซึ่งอาจพิจารณานำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป.ป.ช. เรื่องการป้องกันการทุจริตโครงการภาครัฐ ซึ่งครม.เห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2553 มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้การดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตโปร่งใส ตรวจสอบได้และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะกรณีนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้รัฐบาล

6.ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เกี่ยวกับการเติมเงิน 10,000บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนั้น คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาระยะเวลาและงบประมาณในการที่ต้องใช้พัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นการแจกเงินเพียงครั้งเดียวโดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะกรณีนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้รัฐบาล

7.ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆที่ได้จากการศึกษาและตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้รวบรวมข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราการเติบโตของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนรัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน การกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน เป็นต้น ในกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มเป้าหมายตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง เช่น กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะกรณีนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้รัฐบาล

8.หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจน ที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ

ทั้งนี้จะส่งข้อเสนอแนะไปให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป  โดยประธานป.ป.ช.ได้ลงนามในหนังสือที่จะส่งไปให้นายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว เพื่อนำข้อเสนอแนะไปพิจารณาประกอบการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

“ป.ป.ช.ยังไม่ได้บอกว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลยังไม่ได้ขับเคลื่อนโครงการ แต่เมื่อมีนโยบายแบบนี้มา เราก็มาศึกษาถึงวิธีการว่าจะไปได้หรือไม่ โดยมีเอกสารหลักฐานชัดเจนว่ามีการ เสนอแนะแบบนี้ ส่วนการดำเนินนโยบายต่อไปของรัฐบาล ป.ป.ช.ก็มีหน้าที่เฝ้าระวังตามบทบัญญัติของกฎหมาย และมีข้อเสนอแนะไม่ให้เกิดการทุจริต เป็นการป้องกัน” เลขาธิการป.ป.ช.กล่าว

ส่วนเรื่องการมองว่าเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่นั้น ทางคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ข้อมูลจากนักวิชาการ หากรัฐบาลมีข้อมูลและมุมมองที่แตกต่างไปว่าวิกฤต ก็สามารถดำเนินการขับเคลื่อนได้ เป็นหน้าที่รัฐบาลบริหารประเทศ ป.ป.ช.ไม่ได้บริหารประเทศ ป.ป.ช.เป็นคนหนึ่งที่ส่งเสียงประชาพิจารณ์ให้ความเห็นเท่านั้น ทุกอย่างถ้ามีเหตุมีผลชี้แจงได้ รัฐบาลก็สามารถขับเคลื่อนไปได้