ธ.ก.ส เข็นพักหนี้เกษตรกรเฟส2 ช่วยลูกหนี้เกิน 3 แสนบาท

ธ.ก.ส.​จ่อเสนอครม.ขยายมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร จากเดิมไม่เกิน 300,000 บาท เป็นเกิน 300,000 บาท

  • มีลูกค้าราว 1 ล้านบาท
  • เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่ม
  • เฟสแรกช่วย 1.8 ล้านคน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  เปิดเผยว่า ภายในเดือนเม.ย.67 จะพิจารณาออกมาตรการพักหนี้เกษตรกรระยะ 2 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ธ.ก.ส.ที่มีหนี้ทุกบัญชีรวมกันเกิน 300,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากมาตรการพักหนี้ระยะแรก ที่สิ้นสุดไปเมื่อ 31 มี.ค.67 ที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน ธ.ก.ส.มีลูกหนี้ที่มีหนี้เกิน 300,000 บาท อยู่ 1 ล้านบัญชี แต่จะต้องเข้าไปดูว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ได้ถึงวงเงินเท่าไร แต่คงไม่ถึง 1 ล้านบาท เพราะจะเป็นภาระงบประมาณในการชดเชยดอกเบี้ยมากเกินไป

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า มาตรการพักหนี้เกษตรกรระยะ2 จะเน้นกลุ่ม ลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อใหญ่มากกว่าระยะแรก ซึ่งรวมถึงวิสาหกิจชุมชน นิติบุคคล เอกชน ที่เข้าข่ายในการได้รับพิจารณาด้วย โดยช่วงนี้ธ.ก.ส.กำลังพิจารณาจัดทำกลุ่มที่จะได้รับการช่วยพักหนี้ระยะสองอยู่ ซึ่งจะมีการกำหนดเงื่อนไข กลุ่มลูกค้า วงเงินสินเชื่อว่าควรจะอยู่เท่าไร รวมถึงการของบประมาณชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาล และจากนั้นจะนำเสนอให้คณะกรรมการ ธ.ก.ส.พิจารณา เพื่อให้เลือกว่าจะเลือกแพ็คเก็จช่วยได้แค่ไหน รัฐจะใช้วงเงินชดเชยดอกเบี้ยเท่าไร เพื่อให้ธนาคารดำเนินการได้ต่อไป 

สำหรับมาตรการพักชำระหนี้สำหรับลูกค้ารายย่อย ระยะแรก ให้กับลูกหนี้ที่มีวงเงินทุกบัญชีไม่เกิน 3 แสนบาท ที่ปิดลงทะเบียนไปแล้วนั้น มีลูกค้า ธ.ก.ส. แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศแล้วกว่า 1.8 ล้านคน ยอดหนี้ทั้งหมดจำนวน 255,800 ล้านบาท

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ส่วนปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทย เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของรายได้ เนื่องจากมีการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากธรรมชาติ เช่น ฝนฟ้าไม่ตกเกิดภัยแล้ง หรือเกิดน้ำท่วมพืชผลก็เสียหาย ทำให้เกษตรกรกลายเป็นหนี้เสียทันที  ดังนั้นระหว่างที่มีการพักหนี้ ธนาคารจึงมุ่งเข้าไปช่วยเหลือ สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ด้วยการเพิ่มรายได้ เพราะหากเกษตรกรแข็งแรง ธนาคารก็แข็งแรงไปด้วย ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้ในระยะยาว 

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส.

“ที่สำคัญโครงการพักการชำระหนี้ของเกษตรกรรอบนี้ มีความแตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆมา เพราะครั้งนี้รัฐบาลเป็นผู้จ่ายภาระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร ไม่เหมือนกับการพักชำระหนี้ครั้งก่อน ที่รัฐบาลไม่ได้มีการรับภาระดอกเบี้ยของเกษตรกร เป็นเพียงให้เกษตรกรพักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งเมื่อพ้นระยะการพักการชำระหนี้แล้ว ภาระหนี้ของเกษตรกรก็ไม่ได้ลดลง แต่รอบนี้ ถ้าเกษตรกรนำเงินมาชำระหนี้ในช่วงที่มีการพักหนี้อยู่ เงินที่ชำระหนี้ทั้งหมดจะนำมาตัดที่เงินต้นไปทั้งหมดทันที ทำให้เมื่อพ้นระยะเวลาการพักการชำระหนี้แล้ว เงินต้นของเกษตรกรจะลดลง จึงขอแนะนำให้เกษตรกรหากมีกำลังเพียงพอก็สามารถรีบมาจ่ายหนี้ได้”

ส่วนเกษตรกรรายใด มีภาระดอกเบี้ยที่ค้างชำระ หากนำเงินมาชำระหนี้ในระหว่างระยะเวลาการพักการชำระหนี้ เงินที่นำมาชำระหนี้ จะไม่นำไปตัดภาระดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมด แต่จะแบ่ง 50 %ไปตัดที่เงินต้น และอีก 50 % ไปตัดภาระดอกเบี้ยค้างชำระ ทำให้หนี้เงินต้นค่อยๆลดลง