โชว์ผลงานนายกฯ โรดโชว์ 14 ประเทศ ดึงเงินลงทุนเข้า 5.58 แสนล้าน

รัฐบาลแถลงโชว์ผลงงานโบว์แดง หลังนายกฯ เศรษฐา เดินสายโรดโชว์หนักเยือน 14 ประเทศ พบผู้นำบริษัทชั้นนำกว่า 60 บริษัท เพื่อเชิญชวนมาลงทุนในไทย ด้านบีโอไอ คาดเกิดเงินลงทุนจากนี้แน่นอน 558,000 ล้านบาท

  • ชี้เวลานี้ไทยได้โอกาสดี เหตุประเทศฝั่งตะวันออก-ตะวันตกมีปัญหากัน ทำให้ฐานการผลิตสินค้าต้องย้ายออกจากจีน
  • ลั่นบริษัทผู้ผลิตรถ EV จากจีน ระดับท็อป 10 ของโลก ปักหมุดเลือกไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก
  • พร้อมเจรจากับผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ชั้นนำของโลก คาดภายในปีนี้จะมีผู้ผลิตรายใหญ่อย่างน้อย 2 ราย เข้ามาลงทุนในไทย
  • เผยนายกฯ ร่วมโรดโชว์ด้วย มีผลทำให้จบดีลง่าย เพราะมีโอกาสพบผู้บริหารระดับเบอร์หนึ่ง หากเป็นบีโอไอไปเอง จะได้พบกับเบอร์สามของเขา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (26 มี.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานผู้แทนการค้าไทย พร้อมด้วย นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกันแถลงถึงผลการดำเนินงานของรัฐบาล ด้านการลงทุนและความร่วมมือกับภาคเอกชนต่างชาติ โดยเป็นผลจากเมื่อช่วง 6 เดือนกว่าที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้ตระเวนเดินสายโรดโชว์ 14 ประเทศ พบกับกลุ่มบริษัทชั้นนำมากกว่า 60 บริษัท เพื่อเชิญชวนพร้อมดึงดูดบริษัท-นักลงทุน เข้ามาลงทุนในประเทศไทย 

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า นายกฯ และคณะได้เดินทางเยือนต่างประเทศจำนวน 14 ประเทศ พร้อมได้พบปะหารือกับบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 60 บริษัท โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์ เจรจาด้านความร่วมมือทวิภาคีกับผู้นำประเทศต่างๆ ซึ่งนอกเหนือจากการประชุมตามวาระงานแล้ว นายกฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้เข้าพบภาคธุรกิจต่างชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ชักชวนการลงทุน ทั้งการพบปะผู้บริหารระดับสูง การนำเสนอวิสัยทัศน์ต่อสมาคมธุรกิจและหอการค้าชั้นนำ ตลอดจนจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจและจับคู่ผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ

ทั้งนี้ จากการดำเนินการดังกล่าว เป็นผลให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา บีโอไอได้รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวม 850,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี เมื่อพิจารณาเฉพาะมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีการเติบโตสูงถึง 72% จากปีก่อน และในไตรมาสสุดท้ายของปี 66 มูลค่า FDI ขยายตัวกว่า 145% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในช่วงปีที่ผ่านมา

ม.ล.ชโยทิต กล่าวต่อว่า รัฐบาลและบีโอไอ ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์เน้นหนักในการดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะใน 4 อุตสาหกรรม อันได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ Data Center และ Cloud Service รวมถึงกิจการสำนักงานภูมิภาค เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมหลักของประเทศ

“ในเวลานี้ประเทศไทยถือว่าได้โอกาสดีที่ต้องรีบคว้าไว้ โดยการที่ประเทศฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกมีปัญหากัน ทำให้ฐานการผลิตสินค้าต่างๆ ต้องย้ายฐานออกจากประเทศจีน รวมถึงไทยเป็นประเทศที่มีพลังงานสะอาดรองรับอีก มีการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศน้อยก่อนประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง รวมถึงความพร้อมด้านพลังงานไฟฟ้าไทยก็มีความพร้อม” ม.ล.ชโยทิต กล่าว

ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่ารัฐบาลมุ่งมั่นที่จะรักษาตำแหน่งความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในภูมิภาค ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีการออกมาตรการและการทำงานต่างๆ อย่างต่อเนื่องและเข้มข้น ทั้งการดึงผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่ๆ ให้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย และการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเดิมให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV ได้อย่างราบรื่น ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด เนื่องจากค่ายรถยนต์ต่าง ๆ อยู่ระหว่างขยายการลงทุน

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าถือเป็นอนาคตที่สำคัญของโลก รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จึงดำเนินมาตรการสนับสนุนหลากหลายรูปแบบ ทั้งดึงดูดผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่เข้ามาลงทุน และสนับสนุนผู้ผลิตรายเดิมให้สามารถปรับตัวได้ ซึ่งผลจากการดำเนินงาน ทำให้บริษัทผู้ผลิตจากจีนหลายรายในระดับท็อป 10 ของโลก เช่น BYD, Aion, Changan, GWM, MG เลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก

นายนฤตม์ กล่าวต่อว่า จากการเจรจาครั้งสำคัญเมื่อปีที่แล้วที่กรุงโตเกียว ทำให้ 4 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นชั้นนำทั้ง ฮอนด้า โตโยต้า มิตซูบิชิ และอีซูซุ มีแผนการขยายการลงทุนรวมกว่า 150,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานในการปรับตัวไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และการรักษาธุรกิจยานยนต์สันดาปในปัจจุบัน ในขณะที่รัฐบาลยังคงเดินหน้าเจรจากับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากยุโรปและอเมริกาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีมาตรการสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ชั้นนำของโลก คาดว่าภายในปีนี้จะมีผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่อย่างน้อย 2 ราย เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

นายนฤตม์ กล่าวต่อว่า สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดึงการลงทุนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำมาลงทุนในประเทศไทย แต่มาในรัฐบาลนี้ ได้ตั้งเป้าพัฒนาให้เกิดระบบนิเวศ ด้วยการดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง เช่น การผลิตชิปต้นน้ำ การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ การรับจ้างผลิตและทดสอบชิปขั้นสูง เข้ามายังประเทศไทย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าสูง สร้างงานทักษะสูงในประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างเจรจากับบริษัทระดับโลกหลายราย

ส่วนด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะด้าน Data Center และ Cloud Services ซึ่งเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI คาดว่าภายในปีนี้จะมีผู้ให้บริการระดับไฮเปอร์สเกลเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมอย่างน้อย 2 ราย ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องหลายแสนล้านบาทในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค

ทั้งนี้ ในประเด็นสุดท้าย คือการดึงดูดบริษัทชั้นนำให้มาตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและศูนย์กลางการเงิน และโลจิสติกส์ของภูมิภาคนี้ โดยในปีที่ผ่านมา มีบริษัทต่างชาติรายใหญ่หลายรายเลือกไทยในการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค ส่งผลให้มีแรงงานทักษะสูงระดับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญเข้ามาอยู่ในประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรไทย

นอกจากนั้น รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นในการจูงใจให้ภาคเอกชน จัดตั้งสำนักงานภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทผู้มีฐานการผลิตในไทยและอาเซียน รวมทั้งกลุ่มธุรกิจบริการต่างๆ เช่น ดิจิทัล การเงิน โลจิสติกส์ ไปจนถึงธุรกิจแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ซึ่งใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของไทยในหลาย ๆ ด้าน โดยนอกเหนือจากปัจจัยด้านธุรกิจเช่น โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรที่มีคุณภาพ ต้นทุนทางธุรกิจที่เหมาะสมแล้ว ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตสำหรับกลุ่มคนทำงานด้วย เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบรักษาพยาบาล โรงเรียน แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เป็นต้น ในปีนี้คาดว่าจะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 5 ราย

“การทำงานกับรัฐบาลในการเดินทางไปต่างประเทศในแต่ละครั้ง บีโอไอต้องมีการทำงานเพื่อเตรียมพร้อมก่อนไป ทั้งการเตรียมข้อมูลเชิงลึก แพ็คเกจการลงทุนที่จูงใจและตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน รวมถึงการทำงานเพื่อติดตามผลการประชุมอย่างต่อเนื่อง โดยทีมงานของนายกรัฐมนตรีร่วมกับทีมบีโอไอ เพื่อช่วยแก้อุปสรรคปัญหา รวมไปถึงกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อทำให้เมืองไทยเอื้อต่อการลงทุน ซึ่งในส่วนนี้ นายกรัฐมนตรีและทีมรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยบีโอไอได้ประเมินเม็ดเงินลงทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากกิจกรรมโรดโชว์ และมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล จาก 4 อุตสาหกรรมหลักที่กล่าวมา รวมแล้วประมาณ 558,000 ล้านบาท การที่มีนายกฯ ไปร่วมเดินสายโรดโชว์แบบนี้ ก็ทำให้ไทยได้มีโอกาสพบผู้บริหารระดับเบอร์หนึ่งของบริษัทชั้นนำ แต่หากเป็นบีโอไอไปเองส่วนใหญ่ก็จะได้พบกับผู้บริหารประมาณเบอร์สามของเขา ซึ่งการที่นายกฯไปเอง จะสร้างความเชื่อมั่นได้เป็นอย่างดี” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้  สำหรับเงินลงทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการสนับสนุนของรัฐบาลจาก 4 อุตสาหกรรมหลัก รวม 558,000 ล้านบาท จะแบ่งย่อยเป็น อุตสาหกรรมดิจิทัล 250,000 ล้านบาท อุตสาหกรรม EV และชิ้นส่วน 210,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเซมีคอนดักเตอร์ 95,000 ล้านบาท และอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น โลจิสติกส์ 3,000 ล้านบาท