การยาสูบยันดูแลชาวไร่เต็มที่ แม้ผลดำเนินธุรกิจแสนบอบช้ำ

การยาสูบแห่งประเทศไทย ลั่นดูแลชาวไร่เต็มที่ พร้อมเดินหน้าปรับขึ้นราคา-รับซื้อใบยาสูบเพิ่ม เผยปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ กระทบธุรกิจหนักกำไรหดเหลือ 219 ล้านบาท

  • เผยโควตารับซื้อใบยาเวอร์ยิเนีย 4.73 ล้านกก. ใบยาเบอร์เลย์ 7.1 ล้านกก .และใบยาเตอร์กิซ 2 ล้านกก.
    วอนรัฐจัดการปัญหาบุหรี่เถื่อน ชี้เป็นปัญหาระดับประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้
  • จ่อเสนอรัฐบาล-กรมสรรพสามิต ให้พิจารณาการปรับโครงสร้างภาษียาสูบครั้งใหญ่ 

นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบ ได้กล่าวว่าราคาการรับซื้อใบยาสูบไม่มีการปรับขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจมากว่า 10 ปีแล้ว สวนทางกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกว่า 30% หรือกว่า 12 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ทำให้ชาวไร่ยาสูบ โดยเฉพาะผู้ปลูกยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียในภาคเหนือต้องแบกรับค่าปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย น้ำมัน เชื้อเพลิงจากไฟฟ้าและฟืน รวมถึงแรงงาน ที่กลายเป็นตัวเลขรายได้ที่ลดลงทุกๆ ปี และยังโดนตัดโควตากว่า 50% ติดต่อกัน 6 ปีด้วย ดังนั้นจึงอยากให้ ยสท.ปรับราคารับซื้อให้คุ้มค่ากับต้นทุนในปัจจุบันเป็นการเร่งด่วน

นายภูมิจิตต์ กล่าวว่า ใบยาสูบไทยเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตบุหรี่ของ ยสท. มีจำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เวอร์ยิเนีย เบอร์เลย์ และเตอร์กิซ โดยมีสำนักงานยาสูบภูมิภาคทั้ง 8 แห่ง เป็นผู้รับซื้อใบยาจากชาวไร่ ที่ผ่านมา ยสท. ให้การสนับสนุนชาวไร่ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูก จนถึงกระบวนการรับซื้อใบยา 

ปัจจุบัน ยสท. มีโควตาการรับซื้อใบยาเวอร์ยิเนีย 4.73 ล้านกิโลกรัม ใบยาเบอร์เลย์ 7.1 ล้านกิโลกรัม และใบยาเตอร์กิซ 2 ล้านกิโลกรัม และจากสถานการณ์ใบยาโลก ในปี 66 ใบยาเบอร์เลย์ในตลาดโลกขาดแคลน ส่วนใบยาเตอร์กิซ มีราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลก ไทยจึงสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด 

ในขณะที่ใบยาเวอร์ยิเนียนั้นมีราคาสูงกว่าราคาตลาดโลก จึงยากในการที่จะระบายใบยาออกตลาดโลก ประกอบกับทาง ยสท. มีใบยาเวอร์ยิเนียคงคลังมากกว่า 2.9 ล้านกิโลกรัม ซึ่งทาง ยสท. ยินดีในการแบกรับและช่วยเหลือชาวไร่และผู้บ่มใบยาเวอร์ยิเนีย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ยสท. มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งออกใบยาเบอร์เลย์และใบยาเตอร์กิซเป็นหลัก นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ยสท. มีนโยบายรับซื้อใบยาเบอร์เลย์และใบยาเตอร์กิซจากชาวไร่เพิ่มขึ้นโดยไม่มีขีดจำกัด นอกจากนี้ ยสท. ยังมีนโยบายที่จะปรับขึ้นราคารับซื้อใบยาสูบเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชาวไร่อีกด้วย รวมถึงเสนอสรรพสามิตในการขอเงินชดเชยจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นช่วยชาวไร่ 89 ล้านบาท

“เกษตรกรชาวไร่ยาสูบในสังกัดทั่วประเทศ คือครอบครัว ยสท. ที่มีความผูกพันกันอย่างยาวนาน เมื่อเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบต่างๆ เราก็พร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือโดยไม่ทอดทิ้งอย่างแน่นอน และ ยสท. พร้อมเปิดรับขึ้นทะเบียนชาวไร่ยาสูบในสังกัดเพิ่มเติม เพื่อมาเป็นครอบครัวเดียวกัน เดินหน้าสืบสานภารกิจต้นน้ำของอุตสาหกรรมยาสูบให้มีความมั่นคงยั่งยืนสืบไป” 

นายภูมิจิตต์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ธุรกิจยาสูบในประเทศ นับตั้งแต่มีการปรับโครงสร้างภาษี เมื่อปี 60 -66 พบว่าทำให้การยาสูบได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยมียอดขายลดลงจาก 28,000 ล้านมวน ในปี 60 เหลือ14,000 ล้านมวน ในปี 66 ขณะที่กำไรต่อซองลดจาก 6.49 บาทต่อซอง เหลือเพียง 0.18-0.30 สตางค์ ด้านผลกำไรก็ลดจาก 9,343 ล้านบาทต่อปี เหลือที่ล่าสุด 219 ล้านบาท

“การปรับขึ้นภาษีบุหรี่ทำให้ราคาบุหรี่ในประเทศที่ถูกกฎหมายราคาแพงขึ้น รวมถึงมีบุหรี่เถื่อนลักลอบเข้ามาในตลาด เพราะราคาถูกกว่าขายซองละ 20-30 บาท ต่ำกว่าบุหรี่ทั่วไปที่ซอง 65-70 บาท อีกทั้งคนรุ่นใหม่หันไปซื้อบุหรี่ไฟฟ้า ดูได้จากตัวเลขบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกที่เติบโตขึ้น 6.4% ต่อปี อีกทั้งกลุ่มมีรายได้น้อย ก็หันไปสูบยาเส้นแทนเห็นได้จากยอดขายยาเส้นเติบโตกว่า 1 เท่าตัว จาก 12,000 ล้านมวน ขยับเป็น 28,000 ล้านมวน ขึ้นแซงยอดขายบุหรี่ที่ขายได้ 26,800 ล้านมวน ไปแล้ว

“ปัญหาบุหรี่เถื่อน บุหรี่ผิดกฎหมาย เป็นปัญหาระดับประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่มีปริมาณการสูบบุหรี่เถื่อนมากกว่า 70% ของการสูบบุหรี่ทั้งหมดในจังหวัดภาคใต้ จากการวิเคราะห์บุหรี่ผิดกฎหมายในภาคใต้ ด้วยข้อมูลการจัดเก็บรายได้ภาษี อบจ. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 63-66 โดยสำนักป้องกันบุหรี่ผิดกฎหมาย การยาสูบแห่งประเทศไทยพบว่ารายได้จากการเก็บภาษี อบจ. ทั้งบุหรี่ไทยและบุหรี่ต่างประเทศ ใน 14 จังหวัดภาคใต้ มี 670 ล้านบาท คิดเป็น 7.9% ของรายได้จากการเก็บภาษี อบจ. ทั้งประเทศ เมื่อแยกเป็นรายปี พบแนวโน้มการจัดเก็บภาษีบุหรี่ อบจ. ลดลงทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้”

นายภูมิจิตต์ กล่าวด้วยว่า แนวทางของ ยสท. จากนี้ คือเตรียมเสนอรัฐบาลและกรมสรรพสามิต ให้พิจารณาการปรับโครงสร้างภาษียาสูบครั้งใหญ่ โดยขณะนี้ ยสท. ได้ว่าจ้างนักวิชาการ ศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรม จากปัจจุบันที่มีการเก็บภาษีด้านปริมาณ และมูลค่าอีก ที่ 25-42% คาดได้ข้อสรุปใน 2 เดือนนี้ รวมถึงการพิจารณาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ยาสูบ เช่น ให้รับจ้างผลิตบุหรี่เพื่อจำหน่ายในประเทศได้ เป็นต้น รวมถึงมีแผนปรับการตลาดใหม่เช่น การออกบุหรี่ยี่ห้อใหม่ การลดราคาบุหรี่รุ่นเดิมเพื่อชิงส่วนแบ่งกลับมา หลังจากที่ผ่านมา ยสท.เสียส่วนแบ่งตลาดจาก 79% เหลือเพียง 52%