“สุรพงษ์” ควง “จุลพันธ์” ขยายศักยภาพประตูการค้าชายแดน

  • เร่งเปิดศูนย์เปลี่ยนถ่าย ขนส่งสินค้าเชียงของ 
  • ผลักดันสู่การเป็นศูนย์ One Stop Service 
  • ขยายศักยภาพประตูการค้าชายแดน  

“สุรพงษ์” ควง “จุลพันธ์” ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์เปลี่ยนถ่าย รูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ เร่งผลักดันสู่การเป็นศูนย์ One Stop Service ขยายศักยภาพประตูการค้าชายแดน พร้อมขับเคลื่อนการบูรณาการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าเชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบราง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม  พร้อมด้วย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง  ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ว่า โครงการดังกล่าวจะรองรับและเชื่อมต่อการขนส่งสินค้ากับโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่สำคัญของกระทรวงคมนาคม ที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพประตูการค้าบริเวณด่านพรมแดนเชียงของ และการขนส่งทางถนนบนเส้นทาง R3A ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการค้าการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) และภูมิภาคอาเซียน รองรับการเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน 

อีกทั้งยังรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและมีการบูรณาการเชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบราง โดย รฟท. จะมีการก่อสร้างทางรถไฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ เข้ามาภายในพื้นที่ของศูนย์ฯ โดยที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบก และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ไปแล้ว  ซึ่งโครงข่ายระบบราง  สามารถเชื่อมต่อระหว่างกัน ทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงการบริหารจัดการได้อย่างไร้รอยต่อ ช่วยสนับสนุนระบบรางให้เป็นระบบการขนส่งหลัก นำไปสู่การลดต้นทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ

“ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ ยังมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) รองรับการดำเนินพิธีการที่เกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกได้ในจุดเดียว และสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area) รองรับการปฏิบัติหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ไทย และ สปป.ลาว ในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนในการปฏิบัติงานและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก”

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนเปิดให้บริการโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ อย่างเต็มรูปแบบในปี 2568 นี้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการในระยะที่ 2 และอยู่ระหว่างกระบวนการคัดเลือกเอกชน (PPP) ตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และด้วยศักยภาพ

ของโครงการ จากตำแหน่งที่ตั้งในจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาค และการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทำให้มั่นใจได้ว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนจังหวัดเชียงราย ให้เป็น Logistic Hub ที่สำคัญช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับประชาชน ตลอดจนช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของภูมิภาคต่อไป