​“เศรษฐา”หารือส.อ.ท.ฟังแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำคณะผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเข้าพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“เศรษฐา”หารือส.อ.ท.ฟังแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการ

  • เพื่อส่งผลความเจริญระยะยาวแก่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศ
  • ​จะทำให้เกิดความสมดุลทุกด้านทั้งภาคอุตสาหกรรม
  • ภาคการเงินการคลัง ตลอดจนด้านการต่างประเทศ

วันนี้ (6 ต.ค. 2566) นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำคณะผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเข้าพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย นายเศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจให้เป็นเรื่องหลัก และจะทำให้เกิดความสมดุลทุกด้านทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเงินการคลัง ตลอดจนด้านการต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลตระหนักถึงเรื่องนี้ ที่จะผลักดันให้ครอบคลุมทุกมิติ ให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการ เพื่อส่งผลความเจริญระยะยาวแก่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยยืนยันพร้อมรับฟังข้อเสนอและทุกข้อเสนอแนะจะนำไปพิจารณา

สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ และมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องของการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบให้เพียงพอกับประชาชนทุกภาคส่วนของประเทศ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งในเดือนเมษายน อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับเรื่องของข้อกฎหมายหรือกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ติดขัดอยู่ให้สามารถดำเนินการได้เพื่อการส่งเสริม Ease of Doing Business ของประเทศไทย 

สำหรับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้นำเสนอ ภายใต้เป้าหมาย 3 เรื่อง คือ Competitiveness, Driving GDP Growth และ SDGs เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน มีประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบเพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น กำหนดให้การปฏิรูปกฎหมายเป็นวาระแห่งชาติ บูรณาการในการออกกฎหมาย กฎระเบียบ และแนวทางปฏิบัติระหว่างหน่วยงานภาครัฐให้เกิดความชัดเจนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

(2) พัฒนาบุคลากร เพื่อผลิตภาพแรงงานแและแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งระบบ เช่น การปรับปรุงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (3) การบริหารจัดการด้านพลังงานทั้งระบบรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) เช่น เร่งพิจารณาทบทวนแผนพลังงานชาติ National Energy Plan (NEP) ลดภาระต้นทุนพลังงานและค่าไฟฟ้า (4) การส่งเสริมการส่งออก การค้า และสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve เช่น เร่งสร้างกลไกและแผนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่มีศักยภาพ เร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี FTA เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับสินค้า Made-in-Thailand

(5) การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมและดิจิทัล เช่น สนับสนุนการลงทุนพัฒนาไปสู่ Digital Transformation 4.0 ขับเคลื่อนการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation-Drive Enterprise) รายอุตสาหกรรม และรายภูมิภาค (6) พัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (BCG & ESG) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero เช่น บูรณาการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เตรียมความพร้อมในการรับมือมาตรการ Climate Change ผลักดันการดำเนินการอุตสาหกรรมสีเขียว และเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ

(7) ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs เช่น ออกมาตรการการเงิน เสริมสภาพคล่อง SMEs ปรับอัตราภาษีสำหรับธุรกิจ SMEs (8) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน Logistics และพื้นที่สําหรับอุตสาหกรรม เช่น แก้ไขปัญหาความแออัด ณ บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ยกระดับด่านชายแดนเป็นจุดผ่านแดนถาวร ปรับปรุงผังเมืองทั่วประเทศ ให้พื้นที่เกษตรกรรมสามารถรองรับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เป็นต้น

“ผมต้องการรู้ action plan ที่เป็นรูปธรรมว่า สภาอุตสาหกรรมต้องการให้รัฐบาลทำอะไรบ้าง ให้บอกมาให้ชัดเจนในการพบกันครั้งหน้า ซึ่งประธานสภาอุตสาหกรรมได้รับปากแล้วว่า จะเตรียมข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมซึ่งสามารถปฏิบัติได้ทันทีมานำเสนอ” นายเศรษฐากล่าว

ช่องทางติดต่อ The Journalist Club