บอร์ดอีวีไฟเขียวลุยสนับสนุน EV3.5 รับเงินอุดหนุน 50,000-100,000 บาท

บอร์ดอีวี ฉลุยมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV3.5 ในช่วง 4 ปี ตั้งเป้าดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถอีวีในภูมิภาค ส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำ

  • รถยนต์นั่งราคาไม่เกิน 2 ล้าน ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 10 kwh แต่น้อยกว่า 50 kwh ปี 67 ได้รับ 50,000 บาท/คัน 
  • ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 50 kwh ขึ้นไป ปี 67 จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน
  • รถยนต์นั่งราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kwh ขึ้นไป จะได้รับสิทธิลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% 

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหลังคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (อีวีบอร์ด) ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังเป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV3.5) ในช่วง 4 ปี (2567-2570) เพื่อส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในการยกระดับศักยภาพ ควบคู่กับการขยายโอกาสของประเทศไทยในเวทีโลก ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญในประเทศไทย ให้เกิดเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตได้เตรียมขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะแรก หรือEV 3 ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีผู้นำเข้าและผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมมาตรการ EV3 ที่ได้ทำข้อตกลง (MOU) ร่วมกับกรมสรรพสามิต จำนวน 19 ราย มีรถยนต์ที่ได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการ EV3 จำนวน 28,841 คัน และรถไฟฟ้าที่มีการนำเข้าแต่ยังไม่ได้ยื่นขอรับเงินอุดหนุน จำนวน 61,436 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย.66) สร้างผลสำเร็จในการกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 

โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค. – พ.ย.) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จำนวน 67,056 คัน เพิ่มขึ้นกว่า 7.9 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 8,483 คัน โดยผลของมาตรการ EV3 ก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่ารวม 61,425 ล้านบาท จากโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ EV3.0 สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่นี้เพิ่มเติมได้ และผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการสามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมสรรพสามิต ดังนี้

1. รถยนต์นั่ง (ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) จะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้ สิทธิเงินอุดหนุน

1) ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 10 kwh แต่น้อยกว่า 50 kwh ปี 2567 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน ปี 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 35,000 บาท/คัน ปี 2569 – 2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 25,000 บาท/คัน (เฉพาะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น)

2) ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 50 kwh ขึ้นไป โดยปี 2567 จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน ปี 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 75,000 บาท/คัน ปี 2569 – 2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน (เฉพาะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น)

สิทธิลดอัตราอากรขาเข้าไม่เกิน 40% (สำหรับรถที่มีการนำเข้าในช่วงปี 2567 – 2568) สิทธิลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% ในปี 2567 – 2570

2. รถยนต์นั่ง (ราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kwh ขึ้นไป จะได้รับสิทธิลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% 

3. รถกระบะ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kwh ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน และได้รับสิทธิลดอัตราภาษีสรรพสามิตเหลือ 0% ในปี 2567 – 2568 และอัตราภาษี 2% ในปี 2569 – 2570

4. รถจักรยานยนต์ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 150,000 บาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kwh ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 10,000 บาท/คัน และได้รับสิทธิลดอัตราภาษีสรรพสามิต เหลือ 1% ในปี 2567 – 2570