ททท.เอเชียปี 67 ต่อยอด 7 Digit Target หนุนเป้าใหม่ 38%

ททท.เร่งเครื่องปี’67 ลุยต่อยอดความสำเร็จ “7 Digit Target” หลังโกย 4 ชาติ เที่ยวไทยเกินปีละ 1 ล้านคน ปี’66 “มาเลเซีย” ทุบสถิติ 4.4 ล้านคน อินเดีย 1.6 ล้านคน ปีใหม่มัดรวม 5 กลยุทธ์เพิ่มค่าใช้จ่าย ขยายวันพัก พ่วงขาย 55 เมืองรอง

  • ททท. สั่งลุยปี 67 ตลาดเอเชียแปซิฟิกใต้โหมใช้ “7 Digit Target”
  • ขยับเป้าอาเซียน เอเชีย โอเชเนีย รวม 38% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 
  • เข้มเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ซอฟท์ เพาเวอร์ พ่วงโปรแกรมทัวร์เมืองรอง

นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชีย และแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า เตรียมแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ปี 2567 เน้นดึงดูดกลุ่มคุณภาพสูงที่ท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ รวมถึงเพิ่มค่าใช้จ่ายและขยายวันพักค้างผ่านการนำเสนอท่องเที่ยวเมืองรอง โดยจะต่อยอดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนด้วย ตลาด 7-Digit Target ต่อเนื่องจากปี 2566 ประสบความสำเร็จเกินคาด จากนโยบายรัฐบาลสนับสนนุนเต็มที่ทำให้ตลาดมาเลเซีย1 เดินทางมามากสุด 4.4 ล้านคน ส่วนอินเดียทำสถิติใหม่รายวัน รวมทั้งสิงคโปร์ เวียดนาม ได้พลังซอฟท์ เพาเวอร์ เป็นสินค้าหลักดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพและตลาดเฉพาะสร้างผลดีต่อเศรษฐกิจท่องเที่ยวภาพรวมฟื้นตัวใกล้เคียงปี 2562

ปี 2567 ททท. มุ่งขยายตลาดนักท่องเที่ยวภูมิภาคนี้ตามเป้าหมาย 38 % ของตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมดโดยจะเร่งทำตลาดต่อเนื่องในอาเซียน อินเดีย โอเชียเนีย เพิ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงที่ออกเดินทางด้วยความตระหนักถึงการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ กระตุ้นให้เพิ่มค่าใช้จ่าย ขยายวันพักในไทย สร้างจุดขายการเดินทางเที่ยวเมืองไทยเชื่อมโยงไปยังจังหวัดท่องเที่ยว 55 เมืองรอง ผนวกสินค้าซอฟต์พาวเวอร์เอกลักษณ์ไทย เพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมายทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างยั่งยืนต่อไป

นายฉัททันต์ กล่าวว่า ปี 2566 ททท.ภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ จะนำเข้านักท่องเที่ยวในพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมดเข้ามาเที่ยวเมืองไทย 32 % ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด โดยวางแนวทางทำตลาดมุ่งขยายฐานตลาดศักยภาพที่มีนักท่องเที่ยวเกินปีละ 1 ล้านคน หรือ “7-Digit Target” ประสบความสำเร็จทำได้เกินเป้าหมายทั้ง 4 ตลาด ได้แก่ มาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม

“มาเลเซีย” เดินทางท่องเที่ยวไทย อันดับ 1 เข้ามาแล้วกว่า 4.4 ล้านคน ส่วนใหญ่เลือกใช้ด่านทางบกมากกว่า 60 % ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการยกเว้นการยื่นแบบ ตม.6 บริเวณด่านพรมแดนสะเดาเริ่ม 1 พฤศจิกายน 2566 ทำให้ตลาดเติบโต 104 % ฟื้นตัวสูงปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ช่วงเทศกาลเคาท์ดาวน์ 2566 ต้อนรับปีใหม่ 2567 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อนและจับจ่ายซื้อสินค้ากว่า 100,000 คน ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนเพิ่มอีกจำนวนมาก  

“อินเดีย” ตลาดขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ยอดสรุปปี 2566 เกินเป้าหมายแล้ว 1.6 ล้านคน ได้อานิสงจากรัฐบาลไทยประกาศมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) เริ่มเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2566 จูงใจให้คนเดินทางเพิ่มขึ้น บวกกับ ททท.สำนักงานหลักในอินเดีย ทำกระตุ้นการเดินทางด้วยกิจกรรม Sales call รุกเจาะตามเมืองรองในอินเดีย พร้อมกับอัปเดตแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมใหม่ ๆ ของไทยบนสื่อสังคมออนไลน์ และทำโปรโมชั่นการขายร่วมกับบริษัทนำเที่ยวพันธมิตรรายใหญ่อย่าง MakeMy Trip เพื่อสร้างแรงจูงใจกระตุ้นความสนใจนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเลือกเที่ยวเมืองไทย เช่น คอร์ปอเรต อินเซ็นทีฟ คู่แต่งงานและฉลองพิเศษ

ตัวอย่างเมื่อ23 ธันวาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวอินเดียที่เดินทางมาไทยทำสถิติสูงสุดต่อวันครั้งใหม่ (New High) 6,819 คน/วัน จากปกติช่วงเทศกาลเฉลี่ยวันละ 5,800-6,200 คน ดังนั้น ททท.คาดเมื่อสิ้นสุดปี 2566 ท่องเที่ยวไทยจะมีรายได้จากตลาดอินเดียกว่า 65,600 ล้านบาท      

“เวียดนามและสิงคโปร์” เป็นตลาดศักยภาพสำคัญของไทยอีก 2 ตลาด ชาวเวียดนามเดินทางไปท่องเที่ยวไทยมากที่สุดอันดับ 1 เพราะค่าครองชีพใกล้เคียงกันและมีสินค้าบริการหลากหลาย ตลาดหลักจะเป็นกลุ่มมิลเลนเนียลส์ กลุ่มครอบครัวและ MICE แล้วยังเดินทางตามอิทธิพลของกระแสละครและภาพยนตร์ไทย เห็นได้จากเที่ยวบินฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว (Flight Resumption) ททท. เน้นส่งเสริมนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางมาไทยแล้วทั้งกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพองค์รวม (Health & Wellness) กลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Lovers) กลุ่มเยาวชน

รวมถึงสนับสนุนการเดินทางที่เป็นเอกลักษณ์ เช่นบินมาแล้วขับรถท่องเที่ยว หรือ Fly & Drive คาราวานรถหรูจากสิงคโปร์ เปรียบเทียบปี 2566 กับปี 2562 นักท่องเที่ยวเวียดนามกลับมาไทยแล้วกว่า 97% ส่วนสิงคโปร์มาประมาณ 91% ทั้ง 4 ตลาด ทำสถิติเที่ยวเมืองไทยตลอดปีที่ผ่านมาเกินเป้า 7 Digit Target เป็นแรงส่งมาถึงปี2567 จะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน- เรื่องโดย เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน