อานิสงส์20บาททำผู้โดยสารรถไฟฟ้า2 สายพุ่ง 9.2หมื่นคน/วัน

“สุริยะ” ปลื้มมาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ระบุ 5 เดือน ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง-สีม่วงทุบสถิตินิวไฮ ชี้ภาพรวม 2 สายเพิ่มขึ้นทะลุเป้ากว่า 18% ดันมูลค่าทางเศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อมวันละ 2.6 ล้าน ช่วยลดค่าครองชีพประชาชน หนุนใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ พร้อมคาดผู้โดยสารเพิ่มต่อเนื่อง

  • “สุริยะ” ปลื้มมาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
  • ระบุ 5 เดือน ผู้โดยสารสายสีแดง-สีม่วงทุบสถิตินิวไฮ
  • ดันมูลค่าทางเศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อมวันละ 2.6 ล้าน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้จัดเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสาย  เริ่มตั้งแต่16 ต.ค. 66 เป็นต้นมา ในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ – ตลิ่งชัน) และบางซื่อ- รังสิต  และรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่ นั้น ทางกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้รายงานว่า ตั้งแต่ 16ต.ค.66 – 14 มี.ค.67 พบว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ – ตลิ่งชัน และ บางซื่อ- รังสิต มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 27,683 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนมีมาตรการฯ 27.97% ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 21,632 คน-เที่ยว สูงกว่าประมาณการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10 – 20% ขณะที่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่ พบว่า มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 65,179 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนมีมาตรการฯ 14.39% ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 56,979 คน-เที่ยว 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งสายสีแดง และสายสีม่วง พบว่า ภายหลังมีมาตรการอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย มีผู้โดยสารใช้บริการรวมสองสายเฉลี่ยวันละ 92,714 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 17.94% จากเดิมก่อนมีมาตรการฯ ทั้งสองสายรวมกัน มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 78,611 คน-เที่ยว ซึ่งมากกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ และยังพบว่า ทั้งสองเส้นทาง มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และมีผู้โดยสารใช้บริการมากสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา (Newhigh) อย่างต่อเนื่อง 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาลนั้น จากการประเมินมูลค่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พบว่า มาตรการดังกล่าว มีมูลค่าสูงถึงวันละ 2,640,000 บาท และคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนั้นโครงการดังกล่าวยังเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน ลดภาวะมลพิษ และลดการใช้พลังงานภายในประเทศได้อีกด้วย

ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคจากการเพิ่มการเดินทางของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ โดยกระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งภายใน และภายนอกสถานี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงระบบราง เช่น ถนนสายหลัก ถนนสายรอง ทางเดิน ทางรถจักรยาน เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงสร้างพื้นฐานภายนอกสถานีที่เอื้ออำนวยการเชื่อมต่อระหว่างสถานีกับ ย่านพาณิชยกรรม ย่านที่อยู่อาศัย และบริการสาธารณะต่าง ๆ รวมทั้งการจัดระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (Feeder System) สามารถนำผู้โดยสารจากที่พักอาศัยเข้าสู่สถานีระบบขนส่งมวลชนทางราง เช่น รถโดยสารประจำทาง รถรับจ้างโดยสารสาธารณะ ขนส่งมวลชนสาธารณะระบบรางเบา หรือขนส่งมวลชนอื่นที่จะเชื่อมโยงการเดินทางจากใจกลางเมืองสู่พื้นที่รอบนอก เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร สามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ ลดภาระการชดเชยจากภาครัฐได้ต่อไป