โพลชี้ประชาชนกังวลโจรไซเบอร์ ถ้าเกิดเหตุธนาคารควรรับผิดชอบ

“ซูเปอร์โพล” เผยผลสำรวจความคิดเห็น “เงินถูกโจรกรรม ใครต้องรับผิด” ส่วนใหญ่เห็นแบงก์ควรรับผิดชอบ กังวลต่อความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินจากโจรไซเบอร์ ชี้ควรยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นวาระแห่งชาติ

  • ส่วนใหญ่เห็นแบงก์ควรรับผิดชอบ
  • กังวลต่อความไม่ปลอดภัย
  • ชี้ควรยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์

วันที่ 25 ก.พ. 2567 นายนพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพลและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยจอร์ชทาวน์ วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และการจัดการความเสี่ยง กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนภาคประชาชนในกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่เป็นอีกบทบาทหนึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายตำรวจแห่งชาติดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่มีแนวโน้มของปัญหาเดือดร้อนของประชาชนเพิ่มขึ้นมาจากกรณีเงินถูกโจรกรรมในโลกออนไลน์ที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง

สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล จึงได้ทำการศึกษา เงินถูกโจรกรรม ใครต้องรับผิด กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,125 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 – 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา

เมื่อถามถึง เงินถูกโจรกรรมจากกลุ่มโจรไซเบอร์ ใครต้องรับผิด ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.4 ระบุ ธนาคารผู้รับฝากเงิน รองลงมาคือร้อยละ 56.4 ระบุโจรไซเบอร์ ร้อยละ 31.8 ระบุประชาชนเจ้าของบัญชี ร้อยละ 23.0 ระบุธนาคารแห่งประเทศไทย และร้อยละ 13.5 ระบุตำรวจ ตามลำดับ เมื่อถามถึงความรู้สึกกังวลต่อความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินจากโจรไซเบอร์ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.4 กังวลมากที่สุด ร้อยละ 6.4 กังวลมาก ร้อยละ 3.4 กังวลค่อนข้างน้อยและเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้นกังวลน้อยถึงไม่กังวลเลย

ที่น่าพิจารณาคือ ความเห็นต่อ การยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นวาระแห่งชาติ แก้ไขกฎหมายดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของชาติให้มากยิ่งขึ้น พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.3 เห็นด้วยอย่างยิ่ง ร้อยละ 26.8 เห็นด้วย ร้อยละ 3.3 ค่อนข้างเห็นด้วย และเพียงร้อยละ 1.6 เท่านั้นไม่ค่อยเห็นด้วยถึง ไม่เห็นด้วย

ส่วนที่น่าเป็นห่วงคือ วลีและประโยคสำคัญสะท้อนความรู้สึกและข้อเสนอแนะจากประชาชนต่อทุกภาคส่วนรับผิดชอบความปลอดภัยทางไซเบอร์ เงินของประชาชนในระบบออนไลน์ ได้แก่ ธนาคารไม่ใส่ใจ ไม่กระตือรือร้น ไม่ช่วยเหลือลูกค้าผู้ตกเป็นเหยื่อโจรไซเบอร์ให้ทันเวลา เอาผิดธนาคารที่ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยไซเบอร์ มีช่องโหว่ ถูกโจรกรรม ข้อมูลลูกค้ารั่ว ธนาคารต้องรับผิดชอบทุกกรณี เพราะลูกค้าเชื่อว่า ธนาคารปลอดภัยจึงเอาเงินไปฝาก

มีกฎหมายเอาผิดธนาคารที่ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอายัดบัญชีคนร้ายทันที จำกัดวงเงินในการโอนแต่ละครั้งแต่ละวัน แก้กฎหมายเพิ่มโทษโจรไซเบอร์ เพิ่มจำนวนตำรวจปราบโจรไซเบอร์ ทำให้ตำรวจมีเทคโนโลยีทันสมัยเชื่อมโยงตามคนร้ายได้เร็ว รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐเท่าทันโจรไซเบอร์ ควรแก้กฎหมายให้ครอบคลุมและทันการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของโจรไซเบอร์ และเพิ่มโทษกฎหมายเอาผิด หน่วยงานรัฐ เอกชน ต้นทางทำข้อมูลสำคัญของประชาชนรั่วไหล เป็นต้น

ส่วนโดยสรุป ตามแนวนโยบายนำของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนโยบายหลักของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบ “ตำรวจในยุคนี้ทำงานเชิงรุก” ดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้ประชาชนในทุกมิติ เช่น การระบุ และเก็บข้อมูลกิจกรรมอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในระบบคอมพิวเตอร์และโครงสร้างเครือข่ายออนไลน์ของกลุ่มเป้าหมายรวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลการโจมตีทางไซเบอร์ตรงไปที่ลูกค้าประชาชน ผู้ประกอบการ องค์กรหน่วยงานต่าง ๆ ในอดีต ปัจจุบันและเฝ้าระวังไปยังอนาคต

โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติและระหว่างหน่วยงานรัฐ-เอกชนนอกองค์กรตำรวจกระชับความสัมพันธ์ทำงานใกล้ชิดกับธนาคาร สถาบันการเงินและองค์กรต่าง ๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงตัวบุคคลเฝ้าระวังพิเศษและเสนอให้ “ขึ้นบัญชีดำโจรไซเบอร์” และการป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียซ้ำของรูปแบบโจรไซเบอร์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ไม่ให้มาสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนได้อีก