ครม.เศรษฐกิจ เร่งหาแนวทางแก้ปัญหาดัน เศรษฐกิจ ฟื้นตัว

เปิด ครม.เศรษฐกิจ วันนี้ (27 พ.ค. 67) เร่งหาแนวทางแก้ปัญหา ดัน เศรษฐกิจ ไทยปีนี้เติบโตมากกว่า 2.5%
เปิด ครม.เศรษฐกิจ วันนี้ (27 พ.ค. 67) เร่งหาแนวทางแก้ปัญหา ดัน เศรษฐกิจ ไทยปีนี้เติบโตมากกว่า 2.5%

ครม.เศรษฐกิจ เร่งหาแนวทางแก้ปัญหา ดัน เศรษฐกิจ ไทยปีนี้เติบโตมากกว่า 2.5% ผู้ว่าแบงก์ชาติร่วมประชุม ออกมาตรการ ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุม ครม.เศรษฐกิจ โดยมี ผู้ว่า ธปท. สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ สศค. บีโอไอ ร่วมประชุมด้วย นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำก่อนเริ่มประชุมว่า เนื่องจากไทย ยังเผชิญปัญหาหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบการส่งออก กำลังซื้อประชาชนอ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง

ปัญหาหนี้ NPL การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ครม.เศรษฐกิจ จึงต้องมาหารือในรายละเอียด เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ การกระตุ้นการท่องเที่ยว เวทีประชุม จึงต้องร่วมแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งระบบ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามศักยภาพ

พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมด้วยนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ร่วมแถลงผลการประชุม
พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมด้วยนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ร่วมแถลงผลการประชุม

หลังจากประชุมเสร็จสิ้นเมื่อเวลา 18.20 น. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมด้วยนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ร่วมแถลงผลการประชุม

โดยนายพิชัย กล่าวว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือถึงปัญหาเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศที่ส่งผลต่อให้ สศช.ปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศตลอดปี 2567 ลงจาก 2.7% เหลือ 2.5%

ครม.เศรษฐกิจ ออกมาตรการ ระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว

โดยที่ประชุมได้นำทุกปัญหามากางบนโต๊ะเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางออกร่วมกัน โดยจะมีมาตรการออกมาเป็นระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและทำทุกวิถีทางเพราะตนเองไม่พอใจการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ 2.5%

ขณะนี้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่ำมากที่ 57.2% ส่งผลต่อการจ้างงานและการบริโภคเป็นวงจรไป เมื่อผู้บริโภคไม่ซื้อ ไม่มีกำลังซื้อ ผู้ผลิตก็ไม่มีรายได้ จึงต้องหาทางกระตุ้นขึ้นมา

โดยที่ประชุมไล่สินค้าทุกตัวว่าเกิดอะไรขึ้นในระอบ 15 ปี ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม รถยนต์ อิเลคทรอนิคส์ ท่องเที่ยว การทำพลังงานสีเขียวป้อนธุรกิจสีเขียว โดยท่องเที่ยวปีนี้เติบโต ในภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่พอสู้ไหว กู้เงินได้ แต่รายเล็กเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ไม่มีสภาพคล่อง ซึ่งผู้ว่า ธปท.ก็เห็นว่าเศรษฐกิจมีปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อและต้องมีมาตรการบางอย่างออกมา

“ที่ประชุมได้หารือถึงค่าเงินเฟ้อที่พอดีเพื่อนำมาเป็นนโยบายโดยกระทรวงการคลังและธปท.เห็นให้ตรงกันว่าจะกำหนดกรอบเงินที่เหมาะสมเท่าใด ปกติจะคุยกันสิ้นปี แต่ครั้งนี้เราเห็นความจำเป็นต้องเริ่มคุยกันเลย โดยในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย หากสินค้าราคาถูก ดอกเบี้ยก็ต้องแพงหน่อย หากสินค้าแพง ดอกเบี้ยก็ต้องถูกหน่อย ก็คงต้องมาดูว่าเราจะตั้งกรอบเงินเฟ้อเท่าใด”

ปรับกรอบเงินเฟ้อ

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ การหารือกันนั้น มีการพูดคุยกัน ในเรื่องของเงินเฟ้อที่ต่ำ และ การเข้าถึงสินเชื่อ ของเอสเอ็มอี โดยในส่วนของเงินเฟ้อ ที่ต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อ ที่กำหนดไว้ ในแต่ละปีที่ 1-3%นั้น

ทั้งกระทรวงการคลัง และ ธปท.ก็เห็นพ้องกันว่า ต้องหารือในเรื่องนี้ ก่อนระยะเวลา ที่มีการกำหนด ไว้ตามปกติ ที่จะหารือเรื่องนี้ ในช่วงปลายปี โดยในเรื่อง ของเงินเฟ้อนั้น ถือว่ามีประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ กรอบเงินเฟ้อ ในปัจจุบันนั้นเหมาะสมหรือไม่

และกรณีที่เงินเฟ้อ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะมีเครื่องมือ หรือแนวทางอย่างไร ให้เงินเฟ้อ กลับมาสู่กรอบ ที่กำหนดไว้ ซึ่งเรื่องนี้ ถือว่าเป็นความรับผิดชอบ ร่วมกันของกระทรวงการคลัง และธปท. ส่วนการปล่อยสินเชื่อ ให้กับเอสเอ็มอี ภาพในวันนี้คือ เราเห็นการหดตัว ของสินเชื่อ ที่ธนาคารปล่อยให้กับ เอสเอ็มอี อย่างรุนแรง

ขณะที่รายใหญ่ ได้รับสินเชื่อ อย่างสบาย เพราะฉะนั้น มาตรการที่มีการพูดคุยกัน และผู้ว่าการ ธปท.ได้เสนอ และเห็นตรงกัน กับมาตรการของกระทรวงการคลัง คือ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

หรือมาตรการ “PGS” ซึ่งจะเป็นมาตรการ PGS รอบที่ 11 ซึ่งการช่วยเหลือ ในส่วนนี้ ของภาครัฐ จะทำให้ปัญหา ในเรื่องที่สถาบันการเงิน ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี แต่ในส่วนนี้ ภาครัฐจะเข้าไปช่วย รับความเสี่ยงให้

“ภาครัฐจะช่วยดูดซับความเสี่ยง ในส่วนนี้ออกไป ซึ่งมาตรการนี้จะเข้า ครม.ได้ใน 2 – 3 สัปดาห์ข้างหน้า พยายามเร่งให้เร็วที่สุด โดยเพิ่มเงื่อนไขว่า ต้องปล่อยกู้ หรือ ค้ำประกันสินเชื่อ ให้กับเอสเอ็มอีรายใหม่ ที่ไม่เคย ได้รับเงินกู้ เป็นอันดับแรกด้วย”

ในส่วน ของงบประมาณ กระทรวงการคลัง จะไปเร่งรัด การเบิกจ่าย ทั้งในส่วนของงบประมาณ และงบในการลงทุน ของรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจ ของรัฐ ได้รับโจทย์ ให้ปล่อยสินเชื่อ ให้กับประชาชน ช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อ ของประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อย มากขึ้น

ส่วนมาตรการ ในภาคของการท่องเที่ยว ที่ประชุมฯได้ พูดคุยว่า ต้องเพิ่มการท่องเที่ยว ในช่วงที่เป็นโลว์ซีซั่นนั้น ที่ประชุม มอบหมายให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาไปดึงนักท่องเที่ยว จากตะวันออกกลาง เข้ามาท่องเที่ยว ในประเทศไทย เพิ่มเติม ซึ่ง กระทรวงการคลัง เตรียมมาตรการ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ในเมืองรอง ซึ่งจะเปิดเผยเงื่อนไข ให้ทราบต่อไป

ยันไม่ได้ตั้งเป็น ครม.เศรษฐกิจ

ด้านนายจุลพันธ์ กล่าวว่า ขอทำความเข้าใจว่าการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชิญรับมนตรี และหน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องมาร่วม แต่ไม่ได้ตั้งเป็นคณะกรรมการแบบคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งรมว.คลังเสนอให้ สศช.และ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เป็นฝ่ายเลขานุการ

โดยจะหารือประเด็นขับเคลื่อนงานได้ง่ายขึ้นเพราะมีหน่วยงานด้านเศรษฐกิจอยู่พร้อม มีการโยนโจทย์มาให้ทุกคนทำต่อ และจะมีกลไกที่หลายกระทรวงจะได้นำไปขับเคลื่อน ทั้งนี้ นายลวรณ แสงสนิทาน ปลัดกระทรวงการคลัง เสนอว่าระหว่างรอมาตรการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ควรคิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีเพิ่ม โดยแต่ละกระทรวง ต้องรับปลับไป และนำมาหารืออีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รัฐบาลกระทุ้ง งบลงทุน 5แสนล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

กระทรวงการคลัง (อังกฤษ: Ministry of Finance) เป็นหน่วยงานราชการส่วนกลางประเภทกระทรวงของไทย ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงินของแผ่นดิน การภาษีอากร การรัษฎากร กิจการเกี่ยวกับที่ดินราชพัสดุ กิจการ อันกฎหมายบัญญัติให้เป็นการผูกขาดของรัฐ กิจการหารายได้ซึ่งรัฐมีอำนาจดำเนินการได้แต่เพียงผู้เดียว ตามกฎหมาย และไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรมอื่น และ กิจการ ซึ่งจะเป็นสัญญาผูกพันต่อเมื่อรัฐบาลได้ให้อำนาจหรือสัตยาบัน รวมทั้งการค้ำประกันหนี้ของส่วนราชการทและองค์การรัฐ สถาบันการเงิน และรัฐวิสาหกิจ