“ศิริกัญญา”ดักทาง“ดิจิทัลวอลเล็ต”ส่อแววแท้งหลังรัฐบาลเลือกออกพ.ร.บ.

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล

“ศิริกัญญา”ดักทาง“ดิจิทัลวอลเล็ต”ส่อแววแท้งหลังรัฐบาลเลือกออกพ.ร.บ. ชี้สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นจำเป็นเร่งด่วน อาจขัดรัฐธรรมนูญ

  • อาจซ้ำรอยพระราชบัญญัติเงินกู้ 2ล้านล้านบาท
  • สมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกมาแล้ว

หลังจากเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลจะเลือกแนวทางการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาทมาใช้สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อย้อนกลับไปวันที่ 23 ตุลาคม 2566  น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เคยโพสต์ลงเฟซบุ๊กระบุเรื่องที่มาของเงินดิจิทัลวอลเล็ตไว้ในหัวข้อว่า “หรือว่า digital wallet จะถึงทางตัน โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ทางเลือกสุดท้าย คือออกเป็นพรก.เงินกู้แบบที่ทำช่วงโควิด ก็จะถือเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองชัดๆ ซึ่งก็ทำไม่ได้อีกเพราะไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนตามรธน.”

ล่าสุดน.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้เลือกเส้นทางที่ยากที่สุด โดยการออกพระราชบัญญัติเงินกู้ เพื่อระดมเงินมาใช้จ่ายในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งมีความเสี่ยงที่การออกพระราชบัญญัติเงินกู้ดังกล่าว อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง เพราะการออกเงินกู้ จะสามารถทำได้ในเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ปรากฏความจำเป็นเร่งด่วนใด ๆ ลักษณะเช่นนี้ อาจเข้าข่ายพระราชบัญญัติเงินกู้ 2ล้าน ล้านบาท ที่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีเคยถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกมาแล้ว อย่างไรก็ตามหากกฤษฎีกาตีความออกมาว่าทำไม่ได้ โครงการนี้ก็ถือว่าต้องแท้งไปในที่สุด

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

น.ส.ศิริกัญญา ยังโพสต์เฟซบุ๊กในวันนี้(10พ.ย.) เมื่อเวลา 16.20 น.ว่า สิ่งที่นายกแถลงวันนี้ เป็นการยอมรับว่าไม่ได้คิดอย่างถี่ถ้วนทั้งเรื่องว่าจะเอาแหล่งเงินมาจากไหนสุดท้ายต้องกู้มาแจก และเทคโนโลยีจาก super application ที่ย้อนกลับมาใช้เป๋าตัง

ซ้ำร้าย เงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจจะไม่มีใครได้เงินเลยซักคนเดียว เพราะทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าร่างพ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้าน ขัดต่อ ม. 140 ของรัฐธรรมนูญ และ ม. 53 ของพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง แต่ก็ยังเลือกทางนี้ ซึ่งนายกและพรรคเพื่อไทยย่อมทราบดี เพราะเป็นกรณีเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญปัดตก พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้าน (รถไฟฟ้าความเร็วสูง) เมื่อปี 2556

หรือนี่เป็นเพียงการสร้างภาพให้ความมั่นใจกับประชาชนว่ากำลังจะได้เงิน ทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่าไปไม่รอดแน่ เป็นการสร้างกับดักเพื่อที่ในอนาคต หากมีบรรดานักร้อง หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปร้องต่อศาล รธน. (ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่ไปร้องแน่นอน) ก็จะสามารถอ้างได้ว่าเป็นความผิดของศาล รธน. ในการปัดตกร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล

ดิฉันขอคัดค้านสุดตัวไม่ให้เรื่องนี้มีศาลรธน.เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ก็ให้มันจบที่คกก.กฤษฎีกา เป็นคนตีความ และรัฐบาลรับผิดชอบในทางการเมืองด้วยตัวเอง

แต่ถ้าถึงที่สุด เกิดอภินิหารและร่างพรบ.นี้ผ่านสภาไปได้ การผ่อนชำระคืนใน 4 ปี บวกดอกเบี้ยในแต่ละปี จะสร้างภาระทางการคลังขึ้นไปเกือบ 20% ของรายได้รัฐบาล เท่ากับเก็บภาษีมาได้ก็เอาไว้จ่ายคืนหนี้ ดอกเบี้ยต่องบประมาณจะทะลุ 10% ในปีงบ 68 ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดาสถาบันจัดเครดิตเรทติ้งเฝ้าจับตาเพื่อรอหั่นเรทติ้งอยู่แน่นอน