แฟนคลับ เซเว่น ยิ้ม! เข้าร่วมโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ได้

ดิจิทัลวอลเล็ต เงื่อนไข เซเว่น
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง แจงที่มาของแหล่งเงินทำโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต

คิดรอเลยจะช้อปอะไรเซเว่นอีเลฟเว่นมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ตเหตุถือเป็นร้านค้าขนาดเล็กชี้ช่องทางการใช้จ่ายในโครงการ จะใช้แอป “ทางรัฐ” อยู่ภายใต้การดูแลของ สพร.

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่า คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ได้กำหนดเกณฑ์ประชาชนที่จะได้รับสิทธิโครงการ ต้องไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท โดยจะมีการกำหนดระยะเวลาที่มียอดเงินในบัญชีย้อนหลังจากที่เริ่มใช้โครงการ

“เรื่องนี้เป็นรายละเอียดที่จะต้องติดตาม แต่เบื้องต้น การพิจารณาเรื่องเกณฑ์รายได้ต่อปี อาจจะพิจารณาวงเงินตามเกณฑ์ที่กำหนดจากเงินได้ของปีภาษี 66 ซึ่งเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่นเดียวกับเรื่องเงินฝาก อาจจะดูวงเงินฝากในช่วงสิ้นปี 66 หรืออาจจะกำหนดยอดวงเงินสิ้นสุดในช่วง มี.ค.67 ต้องมาพิจารณากันในรายละเอียดอีกครั้ง ยืนยันว่าจะกำหนดระยะเวลาต้องเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วแน่นอน” นายลวรณ กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับด้านส่วนช่องทางในการใช้จ่ายในโครงการจะใช้แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA 

ทั้งนี้ มีหลายคนสงสัยว่า ทำไมไม่เลือกใช้แอปฯ เป๋าตัง เนื่องจากแอปฯ ทางรัฐ เป็นแอปฯของรัฐจริงๆ ซึ่งแอปฯเป๋าตังยังถือเป็นของธนาคาร ทั้งนี้ แอปฯ เป๋าตังก็อาจจะยังต้องใช้ แต่เป็นระบบข้างหลังบ้าน ไม่ได้เป็นด้านหน้า เนื่องจากเป็นระบบ Open Loop หมายความว่า เป็นวอลเล็ตของสถาบันการเงิน ทั้งแบงก์และนอนแบงก์สามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งแอปฯเป๋าตัง อาจจะไปเชื่อมต่อตรงนั้น เช่นเดียวกับ แอปฯ เคพลัส หรือแม่มณี ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ DGA อยู่ระหว่างเร่งพัฒนาอยู่

ส่วนข้อสงสัยว่า ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น จะเข้าร่วมโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ได้หรือไม่นั้น นายลวรณ กล่าวว่า ในส่วนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นร้านค้าที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะต้องมีขนาดเล็ก เช่น ร้านค้าโชห่วย และร้านสะดวกซื้อ อาทิ ร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น ก็สามารถเข้าร่วมได้

ทั้งนี้ หลักการได้รับเงินของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ กำหนดคือรอบแรกเงินอยู่ที่ประชาชน ทางประชาชนที่ได้สิทธิ จะต้องใช้ซื้อสินค้าในร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น เพื่อให้เม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานรากโดยตรง จากนั้นในส่วนร้านค้าขนาดเล็กที่ได้รับวงเงินมาแล้ว ต้องเอาไปใช้ต่อเป็นรอบที่ 2 โดยไปใช้จ่ายที่ร้านค้าขนาดใหญ่ต่อ ซึ่งเป็นการซื้อขายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า 

ทั้งนี้ หากร้านค้าขนาดใหญ่ดังกล่าว อยู่ในระบบภาษี ร้านค้านั้นๆ จะสามารถถอดเงินสดออกจากระบบได้ โดยร้านค้าดังกล่าว จะต้องที่อยู่ในระบบภาษี นั้นคือภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สำหรับเงื่อนไขของโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต มีดังนี้

  • ระหว่างประชาชนกับร้านค้าใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
  • ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า

การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า

  • ประเภทสินค้าสินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ยกเว้นสินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม
  • คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน

ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป

  • การจัดทำระบบจะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาล จะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย
  • แหล่งเงินจะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่ง ได้แก่ เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท และการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท
  • ช่วงเวลาการดำเนินโครงการประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

อ้างอิงข้อมูลจาก กระทรวงการคลัง

งานแถลงข่าวโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต