“สภาพัฒน์”ชี้ชัดพักหนี้เกษตรกรไม่ช่วยพ้นกับดักหนี้ ต้องควบคู่เพิ่มรายได้

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไตรมาส3 ปี 2566

“สภาพัฒน์”ชี้ชัดพักหนี้เกษตรกรไม่ได้ช่วยพ้นกับดักหนี้ ต้องควบคู่เพิ่มรายได้ เผยหนี้เสียจากพิษโควิดเพิ่มขึ้นอีก 500,000 บัญชี จาก 4.4 ล้านบัญชี เป็น  4.9 ล้านบัญชี หลังมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว

  • หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.6
  • ตัวที่ต้องให้ความสำคัญคือหนี้ส่วนบุคคลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก

รัฐบาลกำลังทำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งระบบ ดังนั้นตรงนี้จะมีส่วนช่วยสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เข้าใจว่าจะแถลงพรุ่งนี้ ให้รอฟังมาตรการที่จะออกมา” –  ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไตรมาส3 ปี 2566 ว่า ในส่วนของหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสอง ปี 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ขณะที่คุณภาพสินเชื่อภาพรวม ปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยมีประเด็นที่ต้องให้ความส่าคัญ ได้แก่ ความเสี่ยงต่อการติดกับดักหนี้ของเกษตรกร  และการเร่งด่าเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

“ไตรมาสสอง ปี 2566 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.6 เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) อยู่ที่ร้อยละ 90.6 คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาส ที่ผ่านมา ตัวที่ต้องให้ความสำคัญคือหนี้ส่วนบุคคลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ”นายดนุชากล่าว

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาหนี้ครัวเรือนรายวัตถุประสงค์ พบว่า สินเชื่อเกือบทุกประเภทขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยการขยายตัวของหนี้สินครัวเรือนมีที่มาจากหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเป็นหลัก ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลงเล็กน้อย โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้( NPLs) มีมูลค่า 147,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 2.68 จากไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.71 ต่อสินเชื่อรวม

อย่างไรก็ตาม หนี้สินครัวเรือน มีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญมาก ได้แก่ 1.ความเสี่ยงในการติดกับดักหนี้ของเกษตรกรไทยจากมาตรการพักหนี้เกษตรกร จากผลการศึกษาถึงผลกระทบของมาตรการพักหนี้เกษตรกรที่ผ่านมา พบว่า มาตรการพักหนี้ ไม่สามารถลดหนี้ของเกษตรกรได้มากนัก เพราะเกษตรกรที่เข้าร่วมมักมีการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากรายได้จากการทำการเกษตรยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ถ้าเกษตรกรหลุดออกจากกับดักหนี้ได้ จะทำให้การบริโภค และมีรายได้จากการทำงานในภาคเกษตรเพิ่มขึ้น และสามารถอยู่ได้

ดังนั้นต้องมีการยกระดับรายได้ควบคู่กับการดำเนินมาตรการพักหนี้เกษตรกร และ 2.การเร่งดำเนิน มาตรการปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เนื่องจากยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้ง มูลค่าหนี้และบัญชีที่เป็นหนี้เสีย เดิมลูกหนี้ดีแล้วมาเป็นลูกหนี้เสียในช่วงโควิด-19 แม้จะมีการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนบัญชี ที่เป็นหนี้เสีย ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 4.4 ล้านบัญชี เป็น  4.9 ล้านบัญชี หรือเพิ่มขึ้น 500,000 บัญชี  ต้องเร่งช่วยเหลือกลุ่มนี้เพราะถ้ายังสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ต่อเนื่อง จะทำให้ระบบเศรษฐกิจภาพใหญ่ขับเคลื่อนไปได้

“รัฐบาลกำลังทำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งระบบ ดังนั้นตรงนี้จะมีส่วนช่วยสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เข้าใจว่าจะแถลงพรุ่งนี้ ให้รอฟังมาตรการที่จะออกมา”เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าว