ไทยคงสถานะ “ดับบลิวแอล” ด้านทรัพย์สินทางปัญญาต่ออีกปี

.หลังสหรัฐฯประกาศสถานะคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาปี 64

.ชมเปราะไทยมีพัฒนาการทั้งปราบปราม-แก้กม.-รณรงค์เลิกใช้ของเถื่อน  

.พาณิชย์เดินหน้าลุยสร้างความเข้าใจมหามิตรเต็มที่

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) ได้เผยแพร่รายงานสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 65 โดยให้ไทยคงอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (ดับบลิวแอล) ต่อไปอีก 1 ปีนับจากปี 60 ที่สหรัฐฯปรับสถานะไทยจากประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (พีดับบลิวแอล) มาอยู่ดับบลิวแอล ทั้งนี้ สหรัฐฯ ชื่นชมไทยที่พัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาในหลายมิติ ทั้งด้านการปราบปราม ผลักดันการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร การแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในภาครัฐ รวมถึงยังสามารถแก้ไขปรังปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์สำเร็จเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยพร้อมเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (ไวโป)  อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง 

“กรมจะเดินหน้าสร้างความเข้าใจกับสหรัฐฯ เพิ่มเติม เพื่อให้สหรัฐฯ รับทราบความก้าวหน้าด้านการคุ้มครองและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯในไทย และสะท้อนข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ยูเอสทีอาร์จะนำไปบรรจุในรายงานได้อย่างเหมาะสม โดยล่าสุด ยูเอสทีอาร์ อยู่ระหว่างการตั้งผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงาน มาตรา 301 พิเศษ และกรมจะเร่งสรุปแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับทางการสหรัฐฯ เพื่อให้ไทยหลุดจากบัญชี ดับเบิลยูแอล ต่อไป” 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมทำงานเชิงรุกเพื่อขับเคลื่อนระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้เข้มแข็ง จนเกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบจดทะเบียนแบบฟาสต์ แทร็ค หรือเร่งด่วน การให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาครบวงจร  และส่งเสริมประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ในรายงานตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั่วโลก (Notorious Markets) ประจำปี 64 ซึ่งสหรัฐฯ ประกาศเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ไม่ปรากฏชื่อย่านการค้าและตลาดออนไลน์ของไทยในรายงานดังกล่าว

สำหรับการประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญของสหรัฐฯ ในปีนี้ มี 7 ประเทศถูกจัดอยู่ในบัญชีประเทศี่ถูกจับตามองเป็นพิเศษด้านทรัพย์สินทางปัญญา (พีดับบลิวแอล) ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย รัสเซีย อาร์เจนตินา ชิลี และเวเนซุเอลา และมี 20 ประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชีดับบลิวแอล ได้แก่ เวียดนาม ปากีสถาน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน อียิปต์ แอลจีเรีย ตุรกี บาร์เบโดส โบลิเวีย บราซิล แคนาดา โคลอมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ กัวเตมาลา เม็กซิโก ปารากวัย เปรู ตรินิแดดและโตเบโก และไทย