โชว์ผลงาน…สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยสถิติรับร้องเรียกมา 20 ปี พบตำรวจถูกร้องเรียนนำโด่ง ด้านการเมืองตามมาติดๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (26 พ.ย.63) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดงานแถลงผลการดำเนินงานประจำปีของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดย พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้ร่วมแถลงว่า สถิติรับเรื่องร้องเรียนในปีงบประมาณ 2563 (ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563) มีเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้นจำนวน 4,948 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 3,059 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,889 เรื่อง

ทั้งนี้สำหรับสถิติการรับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ก่อตั้งสำนักงานปี 2543 ถึงปีงบประมาณ 2563 รับเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้นจำนวน 50,489 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 48,598 เรื่อง คิดเป็น 96.25% พบประเด็นร้องเรียนเกี่ยวกับตำรวจสูงสุด รองลงมาเป็นการเมืองและการปกครองส่วนท้องถิ่น

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการประกวดสโลแกนที่จะสะท้อนถึงหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในแนวคิด “ผู้ตรวจการแผ่นดิน (Ombudsman) องค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐ” โดยผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 มีสโลแกนว่า“ตรวจสอบรัฐช่วยประชา แก้ปัญหาไม่ชอบธรรม”

โดย พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า ตลอด 20 ปีในการปฏิบัติภารกิจเพื่อเดินหน้าแก้ไขเยียวยาบรรเทาทุกข์ของประชาชน ผู้ตรวจการแผ่นดินตั้งอยู่บนหลักการทำงานขององค์กรอิสระคือ กล้าหาญ สุจริต และเที่ยงธรรม และพร้อมเดินหน้าก้าวสู่ปีที่ 21 ด้วยการยกระดับและพัฒนางานด้านสอบสวนให้เทียบเท่าสากล มีการดำเนินงานอย่างรัดกุม รวดเร็ว ด้วยการใช้เทคโนโลยีให้สามารถรองรับระบบการแสวงหาข้อเท็จจริงได้หลากหลายมิติและทันเหตุการณ์ยิ่งขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพบุคลากร

โดยล่าสุดได้พัฒนา 2 ช่องทางใหม่ ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียนได้มากยิ่งขึ้นของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตลอด 24 ชั่วโมง คือ Line Official : @Ombudsman ซึ่งประชาชนสามารถติดต่อ สอบถาม เข้ามาพูดคุย พร้อมทั้งสามารถเชื่อมโยงไปยังแอปพลิเคชั่นการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และเว็บไซต์ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ รวมทั้งช่องทาง LINE Chatbot ซึ่งเป็นระบบการตอบคำถามโดยอัตโนมัติที่จะส่งคำตอบข้อมูลที่เป็นสาระความรู้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

พล.อ.วิทวัส กล่าวต่อว่า ในส่วนแนวคิดเรื่องการยกระดับมาตรฐานการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้ตรวจการแผ่นดิน จะมุ่งให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชิงระบบซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณชนในวงกว้างและได้แก้ไขเชิงระบบ เช่น การแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางน้ำ ผลักดันให้เกิดมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมในการแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องการส่งข้อมูลข่าวสารแจ้งเตือนภัยธรรมชาติผ่านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อให้เข้าถึงนักท่องเที่ยวและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยได้รวดเร็ว และมีแนวคิดที่จะให้มีเรือกู้ชีพที่เกาะพะงัน เพื่อรองรับกรณีนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บสาหัส โรงพยาบาลในพื้นที่ไม่สามารถรักษาได้ก็ต้องส่งมารักษาที่เกาะสมุย

นอกจากนี้ มีแนวคิดให้กรมเจ้าท่าติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติที่ท่าเรือ และให้ผู้ประกอบการติดเครื่องดังกล่าวในเรือ เพื่อเอาไว้ช่วยนักท่องเที่ยวที่ประสบเหตุได้ทันท่วงที รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับมาตรการต่างๆของรัฐในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งเรื่องหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ขาดตลาด ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้แล้ว มีสินค้าเพียงพอและขายในราคาปกติ 

รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องการตรวจสอบสิทธิขอรับเยียวยาว 5,000 บาท ของรัฐบาล ก็มีการเสนอให้กระทรวงการคลังตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามาตรการช่วยเหลือระยะหลัง อย่างโครงการคนละครึ่งปัญหาดังกล่าวลดลง นอกจากนั้นยังมีการผลักดันยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตรกรรม ประกอบด้วย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เป็นต้น