โค้งสุดท้าย”ศักดิ์สยาม”ขอฮึดสู้คดี”โฮปเวลล์”อีกเฮือก!

  • เดินหน้าสู้คดีโฮปเวลล์หลังเหลือเวลาโค้งสุดท้าย 30 วันก่อนครบกำหนด
  • พร้อมมอบอำนาจอัยการ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา ยื่นอุทธรณ์ศาลอีกรอบ
  • คาดหยิบปมทุจริต เอาผิดเจ้าหน้าที่เลินเล่อ 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการยื่นอุธรณ์ในคดีโครงการระบบขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (โฮปเวลล์) ว่า ขณะนี้ตนได้รับข้อมูลจากที่คณะทำงานศึกษาแนวทางแก้ปัญหาความเสียหายของรัฐในโครงการโฮปเวลล์ ที่มีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและตนได้ลงนามมอบอำนาจให้อัยการเดินหน้ายื่นอุทธรณ์ตามข้อมูลที่ศึกษาไว้ โดยลงนามในหนังสือยื่นอุทธรณ์ไปตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงฯ จะยื่นอุทธรณ์ให้ศาลพิจารณาข้อมูลนั้น ทางอัยการจะต้องยื่นหนังสือขออุทธรณ์ภายในวันที่ 20 ก.ย.2562 ส่วนประเด็นของการอุทธรณ์ในครั้งนี้จะเป็นในลักษณะใด ตนยังไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากจะเป็นการก้าวล่วงศาล ถือเป็นหน้าที่ของทางอัยการที่จะดำเนินการ ส่วนประเด็นที่การยื่นอุทธรณ์ครั้งนี้ กระทรวงฯ มีโอกาสจะชนะหรือไม่ ตนไม่มีความเห็นล่วงหน้าเด็ดขาด หากศาลยังไม่มีคำวินิจฉัย ก็ไม่สามารถแสดงความมั่นใจออกมาได้

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันที่ระหว่างอัยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ทางคณะทำงานศึกษาแนวทางแก้ปัญหาความเสียหายของรัฐโครงการโฮปเวลล์ ที่มีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ก็ยังคงทำงานควบคู่ เพื่อพิจารณาข้อมูล และแนวทางของการจ่ายเงินชดเชยตามที่ศาลตัดสินให้ชำระค่าเสียหายแก่เอกชน ครบกำหนดวันที่ 19 ต.ค.นี้ ซึ่งการทำงานควบคู่นี้ ก็จำพอดีกับช่วงระยะเวลาที่ศาลอาจจะรับพิจารณาข้อมูลที่อุทธรณ์ไปใหม่ ถือเป็นการสู้คดีให้ครบทุกทางตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้คณะทำงานศึกษาแนวทางแก้ปัญหาความเสียหายของรัฐโครงการโฮปเวลล์ ได้มีการพิจารณาแนวทางสู้คดี โดยหยิบยกเรื่องที่เกิดขึ้นจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ถูกฟ้อง จากบริษัทต่างชาติขอเรียกค่าเสียหายทั้งหมดประมาณ 8,000 ล้านบาท ในเรื่องนั้น อนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยให้ กทพ.จ่าย กทพ.ไม่ยอมจ่าย เอกชนจึงฟ้อง กพท. 

ทั้งนี้เมื่อไปสู่ศาลปรากฏว่า ศาลแพ่งชั้นต้น (ยังไม่มีศาลปกครอง) พิพากษาให้จ่ายประมาณ 10,000 ล้านบาท (เงินต้นรวมดอกเบี้ย) ต่อมาอัยการจึงตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว มีการรวบรวมข้อมูลตรวจสอบคุณสมบัติของอนุญาโตตุลาการที่เป็นคณะของอัยการผู้ตรวจสอบสัญญา และคณะของเจ้าหน้าที่ กทพ.แล้วพบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐหลายรายได้กระทำการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทต่างชาติ คณะทำงานจึงได้นำข้อมูลดัวกล่าวเสนอต่อศาล ศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้องในกรณีบูรพาวิถีในที่สุด…