โครงการคนละครึ่ง รวมสองเฟส ดันจีดีพี เพิ่มขึ้น 0.32%

  • โอกาสคนใหม่ 5 ล้านคน ลงทะเบียน 16 ธ.ค.รับ 3,500 บาท
  • ผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้คนละ 1,500 บาท
  • ปรับลดลงเราเที่ยวด้วยกัน เหลือ 15,000 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ“คนละครึ่ง” เฟส 2 เริ่ม 1 ม.ค.-31 มี.ค.2564 ซึ่งกระทรวงการคลังวางแผนให้ผู้รับสิทธิ์รายใหม่ลงทะเบียนได้ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ตั้งแต่ 06.00 -23.00 น. ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com และยืนยันตัวตนผ่านระบบ g-Wallet แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อรับสิทธิ์ตามโครงการ สำหรับผู้รับสิทธิ์คนใหม่ 5ล้านคน จะได้คนละ 3,500 บาท และให้ผู้รับสิทธิ์ในเฟสแรก 10ล้านคนที่ได้รับไปแล้ว 3,000 บาทจะได้รับเพิ่มอีก 500 บาท

“ประชาชนที่ได้รับสิทธิในเฟสสอง และไม่เริ่มใช้จ่ายภายใน 14 วัน นับจากวันที่ได้รับSMS จะถูกตัดสิทธิและไม่สามารถลงทะเบียนได้อีก โดยสิทธิที่ถูกตัดอาจนำไปเปิดให้ลงทะเบียนใหม่ และประชาชนที่ได้ใช้สิทธิตามโครงการคนละครึ่ง จะไม่สามารถใช้สิทธิ์สิทธิ์ ตามมาตรการช้อปดีมีคืนได้ ด้านผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่ม ร้านค้าทั่วไป ต้องเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ใช่นิติบุคคล หรือเป็นร้านค้าของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมือง จะต้องไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งร้านค้าสามารถลงทะเบียนได้ตลอดระยะเวลาโครงการ ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือลงทะเบียนผ่านทางสาขาของธนาคารกรุงไทย”

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 45,000 ล้านบาท ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ขยายตัว 0.14% แต่เมื่อรวมทั้งสองระยะเงินหมุนเวียนในระบบจะสูงถึง 105,000 ล้านบาท จีดีพีขยายตัว 0.32%

ขณะเดียวกัน ครม.เห็นชอบช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้วงเงินค่าซื้อสินค้าบริโภคอุปโภค 500 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ม.ค. – มี.ค. 2564 สำหรับกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนไม่เกิน 13.75 ล้านคน วงเงิน ไม่เกิน 20,635 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ เยียวยากลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อเนื่องอีกระยะหนึ่งให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กระตุ้นการใช้จ่ายในท้องถิ่นช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ถือเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญ

นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบการปรับปรุงโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยเพิ่มจำนวนห้องพักอีก 1 ล้านคืน จากเดิม 5 ล้านคืน เป็น 6 ล้านคืน จากเดิมประชาชนจองที่พักได้ไม่เกิน 10 คืน ต่อ 1 สิทธิ์ สามารถจองที่พักเพิ่มอีก 5 คืน เป็น 15 คืน ต่อ 1 สิทธิ์ การจองโรงแรมที่พัก จากช่วงเวลา 06.00 – 21.00 น. เป็นช่วงเวลา 06.00 – 24.00 น. และขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการ จากสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 2564 เป็นวันที่ 30 เม.ย. 2564 รวมทั้ง สนับสนุนค่าเครื่องบินจาก 2,000 บาท เป็น 3,000 บาท ใน 7 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สงขลา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ และเชียงราย ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด พร้อมปรับลดกรอบวงเงินโครงการฯ เหลือ 15,000 ล้านบาท จาก 20,000 ล้านบาท เนื่องจากประชาชนใช้สิทธิ์โรงแรมไปแล้ว กว่า 4 ล้านสิทธิ์ มีการเบิกจ่ายเงินกู้ไปเพียง 4,195 ล้านบาท คิดเป็น 20.97% ของวงเงินโครงการ ส่วนโครงการเที่ยวไทยวัยเก๋าที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ(ศบศ.)อนุมัติให้ดำเนินการอยู่ภายใต้โครงการเราเที่ยวด้วยกันนั้น ยังไม่มีเสนอเข้ามาใน ครม.ซึ่งคงต้องรอให้คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้พิจารณาก่อน

ทั้งนี้ กำหนดหลักเกณฑ์การลาสำหรับข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ลงทะเบียนและใช้สิทธิ์ โครงการฯ ไม่คิดเป็นวันลา 2 วันโดยกำหนดให้แสดงหลักฐานประกอบการลา โดยต้องมีหลักฐานแสดงการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ และ หลักฐานแสดงการเช็คอินและเช็คเอ้าท์โรงแรงที่พักตามโครงการฯ

นอกจากนี้ จัดกิจกรรมกระตุ้นการเดินทางในรูปแบบคอนซูเมอร์แฟร์ จำนวน 3 ครั้ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคเหนือ และภาคใต้ พร้อมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเข้าร่วมโครงการฯ ควบคู่กับมาตรการสาธารณสุขต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในการเดินทางท่องเที่ยว งบประมาณ 9 ล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินโครงการฯ อีกทั้ง ครม. ยังเห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียด “โครงการกำลังใจ” เปิดให้บริษัทนำเที่ยวที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ โดยใช้หลักเกณฑ์เดิมของโครงการฯ ต้องเป็นบริษัท นำเที่ยวที่จดทะเบียนถูกต้องตามพ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวโดยจดทะเบียนก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2563รวมบริษัทนำเที่ยวที่กรอกรายการนำเที่ยวไม่ครบ 15 รายการ สามารถกรอกเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ หากกรอกครบ 15 รายการแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขเพิ่มเติมได้อีก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โครงการเราเที่ยวด้วยกันที่ใช้วงเงินไปเพียง 20.97% เนื่องจากรัฐบาลให้สิทธิ์การร่วมจ่ายค่าที่พัก 40% สูงสุด 3,000 บาทต่อคืน ซึ่งสามารถพักห้องพักในราคา 7,500 บาท ต่อคืน แต่ในการใช้บริการจริง ประชาชนใช้สิทธิ์ห้องพักมีค่าเฉลี่ยการจองอยู่ที่คืนละ 2,784 บาทต่อคืนเท่านั้น ทำให้เงินร่วมจ่ายของรัฐบาลน้อยลงกว่าที่รัฐบาลเตรียมวงเงินไว้เยอะ

ทั้งนี้ เหตุผลหนึ่งที่ประชาชนจองห้องพักราคาเฉลี่ยดังกล่าว มีทั้งไม่ต้องการใช้เงินสูงมาก และโรงแรมระดับ 4-5 ดาวลดราคาลงมาเพื่อให้ลูกค้าเข้าพักได้ง่าย เพราะต้องการให้ธุรกิจมีสภาพคล่องในช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ