“แทรม”ภูเก็ตเจอโรคเลื่อน!หลัง“สุริยะ” สั่ง รฟม. ปรับแผนให้สร้างหลังจากนี้2ปี

“สุริยะ” สั่ง รฟม. ปรับแผน “แทรมภูเก็ต” รอดำเนินการอีก 2 ปีข้างหน้า พร้อมพิจารณาแทรม EV ย้ำค่าโดยสารต้องถูก คาดเปิดให้บริการปี 73 ขณะที่รถไฟฟ้า “เชียงใหม่-โคราช-พิษณุโลก” เจอโรคเลื่อนชะลอก่อน รอดู “แทรมภูเก็ต” เป็นต้นแบบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า  ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ปรับแผนการดำเนินงานโครงการระบบขนส่งมวลชนภูเก็ต ระยะ(เฟส)ที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง เพื่อให้เริ่มดำเนินการในอีก 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากช่วงแรกนี้ต้องเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างถนนของกรมทางหลวง(ทล.) ให้แล้วเสร็จก่อน เพื่อใช้เป็นทางเลี่ยงในช่วงที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา(แทรม)ภูเก็ต เพราะหากสร้างพร้อมกันทั้งถนน และรถไฟฟ้า จะยิ่งทำให้ปัญหาการจราจรใน จ.ภูเก็ต โดยเฉพาะบนถนนทางหลวงหมายเลข 402 ติดขัดมากขึ้น กระทบการเดินทางของประชาชนได้

ทั้งนี้ในเบื้องต้น รฟม. เสนอใช้ระบบรถไฟฟ้า เป็นรถไฟฟ้ารางเบา(แทรม)ล้อเหล็ก มีระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือศีรษะ ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีการใช้งานแพร่หลาย แต่เนื่องจากปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ และขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ร่วมกับภาคเอกชน ในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train อยู่ จึงมอบโจทย์นี้ให้ รฟม. ไปพิจารณาด้วย นอกจากนี้ให้พิจารณาเรื่องปริมาณผู้โดยสาร รวมถึงเรื่องค่าโดยสาร ซึ่งมีความกังวลไม่อยากให้มีราคาแพงเกินไป เพราะแทรมสายนี้จะเกิดประโยชน์มากกับทั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างสนามบินภูเก็ต กับแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงประชาชนในพื้นที่ที่ต้องเดินทางไปมาทุกวัน

นายสุริยะ กล่าวต่ออีกว่า ได้ย้ำกับ รฟม. ว่า ค่าโดยสารแทรมภูเก็ตสามารถเน้นราคาที่สมเหตุสมผลกับกลุ่มนักท่องเที่ยวได้ และหากคำนวณแล้วค่าใช้จ่ายเพียงพอกับต้นทุน ก็สามารถจัดเก็บค่าโดยสารราคาถูกสำหรับประชาชนในพื้นที่ได้ ส่วนแนวเส้นทางนั้น ยังคงเป็นเส้นทางเดิมทั้งหมด แต่ต้องมีการปรับจราจรใน จ.ภูเก็ตควบคู่ด้วย อย่างไรก็ตามยังมีเวลาที่จะทำให้โครงการนี้เดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยในช่วง 2 ปีหลังจากนี้ รฟม. จะต้องศึกษาพิจารณาในทุกเรื่องให้รอบคอบ และดีที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงกับทุกฝ่าย

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า การปรับแผนการดำเนินงานแทรมภูเก็ตออกไปอีก 2 ปี คาดว่าวงเงินที่ใช้ในการก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้ออีกประมาณ 10% จากวงเงินเดิมประมาณ 33,000 ล้านบาท ในส่วนของเส้นทางยังเป็นเส้นทางเดิม เริ่มจากท่าอากาศยานภูเก็ต สิ้นสุดบริเวณห้าแยกฉลอง ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร(กม.) ซึ่งในจุดที่เป็นจุดตัดระหว่างถนน และทางวิ่งแทรม จะทำเป็นทางลอด โดยแทรมจะวิ่งลอดใต้ถนน เพื่อลดปัญหาการจราจร ส่วนอัตราค่าโดยสาร เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ 20 บาทตลอดสาย แต่หากผู้โดยสารคนใดใช้บริการเข้า-ออกจากท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะทางประมาณ 4-5 กม. จากสถานีเมืองใหม่ จะคิดค่าโดยสารเพิ่ม (Airport Surcharge) คนละ 30 บาท

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนนโยบายให้พิจารณาการใช้รถไฟฟ้า EV นั้น  ต้องมีการสร้างสถานีชาร์จเพิ่มเติมด้วย โดยประเด็นนี้รวมถึงโจทย์ต่างๆ ที่ รมว.คมนาคม มอบมานั้น  ทาง รฟม. จะให้ที่ปรึกษาที่ รฟม. ว่าจ้างศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชนภูเก็ต เฟสที่ 1 อยู่เดิม ซึ่งปัจจุบันยังคงทำหน้าที่อยู่ ให้ศึกษาเปรียบเทียบในรายละเอียดเพิ่มเติม โดยเฉพาะต้นทุนของทั้งรถไฟฟ้าแบบ EV และรถไฟฟ้าแบบจ่ายไฟฟ้าเหนือศีรษะว่าเป็นอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตามการที่มีนโยบายให้เริ่มดำเนินโครงการแทรมภูเก็ตในอีก 2 ปีข้างหน้า ทาง รฟม. คงต้องชะลอแผนการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าในภูมิภาค 3 จังหวัดออกไปก่อน ได้แก่ จ.เชียงใหม่, จ.นครราชสีมา และ จ.พิษณุโลก เพื่อให้แทรมภูเก็ตเป็นต้นแบบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผนการดำเนินงานโครงการแทรมภูเก็ต เบื้องต้นจะใช้เวลาปรับปรุงรายงานการร่วมลงทุนโครงการฯ ระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) 2 เดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค.-พ.ย.66 จากนั้นจะเสนอคณะทำงานตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และคณะกรรมการ(บอร์ด)รฟม. พิจารณาในช่วงเดือน ธ.ค.66-มี.ค.67 ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคม, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.), คณะกรรมการ PPP และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ประมาณเดือน เม.ย.-ต.ค.67 เริ่มคัดเลือกเอกชนเดือน พ.ย.67-ต.ค.68 ก่อสร้าง และติดตั้งงานระบบเดือน พ.ย.68-ม.ค.73 และเปิดให้บริการเดือน ก.พ.73