“เฮียชู” เปิดเกมทุบ “เศรษฐา” บุกยื่นหนังสือถึงสรรพากร ลั่นเอกสารแน่นสอยร่วงเก้าอี้นายกฯ

“ชูวิทย์” ยื่นหนังสือจี้สรรพากรตรวจ “เศรษฐา” ชี้มีพฤติการณ์ทำนิติกรรมเลี่ยงภาษีทำรัฐสูญเงิน

  • พบหลักฐานการชําระภาษีที่ดินที่ผิดปกติ ในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่าง บริษัท แสนสิริฯ กับกลุ่มผู้ขาย
  • ชี้การกระทำของ “เศรษฐา” ถือผิดธรรมาภิบาลบริษัทจดทะเบียนอย่างมาก
  • ถามหากวันหนึ่งได้ก้าวมาเป็นนายกฯ และพูดว่าไม่รู้มีหน้าเซ็นอย่างเดียว ประชาชนจะรับได้หรือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (4 ส.ค.66) เมื่อเวลา 14.00 น. นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ได้เดินทางมายื่นหนังสือเอกสารที่กรมสรรพากร โดยเอกสารที่นายชูวิทย์นำมายื่นเป็นการเปิดข้อมูลอ้างถึง นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ถึงการมีพฤติการณ์ทำนิติกรรมอำพราง เลี่ยงภาษี ในการซื้อขายโอนที่ดิน โดยมีนายกิตติพล สิงห์ทน หัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ รักษาราชการแทนเลขานุการกรมสรรพากร เป็นตัวแทนรับมอบเอกสาร 

ทั้งนี้ นายกิตติพล กล่าวว่า กรมสรรพากรยินดีรับข้อมูลหลักฐานเอกสาร เพื่อไปตรวจสอบข้อเท็จ โดยจะให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยตอนนี้ยังระบุไม่ได้ว่าจะใช้ระยะเวลาเท่าไรในการตรวจสอบ ซึ่งหากมีความจำเป็นอาจต้องเรียกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง เพื่อขอข้อมูลเพิ่มต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับเนื้อหาเอกสารที่นำมายื่น มีเนื้อหาดังนี้ ข้าพเจ้านายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้พบหลักฐานการชําระภาษีที่ดินที่ผิดปกติ ในสัญญา จะซื้อจะขายที่ดินระหว่าง บริษัท แสนสิริ จํากัด (มหาชน) ผู้ซื้อ และนางประไพ ชินพิลาศ กับพวก ผู้ขาย เหตุเกิดระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม 2566 – 6 กันยายน 2566 ณ สํานักงานที่ดินเขตพระนคร รายละเอียดดังนี้

เมื่อปี พ.ศ. 2562 บริษัท แสนสิริ จํากัด (มหาชน) ได้ทําการซื้อที่ดินบนถนนสารสิน โฉนด เลขที่ 16515 ขนาดพื้นที่ 0-3-99.7 ไร่ จากบุคคลจํานวน 12 ราย (ปรากฎตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลําดับ ที่ 1) ซึ่งถือครองที่ดินแปลงดังกล่าวในลักษณะกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา 1356 แห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมเปนเงินทั้งสิ้น 1,570,821,000 บาท (ปรากฎตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ลําดับที่ 2, 3 และ4) โดยกลุ่มผู้ขายได้รับที่ดินมาจากการจดทะเบียนเลิก บริษัทประไพทรัพย์ จํากัด เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 และแบ่งคืนที่ดินซึ่งเปนทรัพย์สินของบริษัทตามสัดส่วนหุ้นของ ผู้ถือหุ้นแต่ละรายโดยมิได้มีการจดทะเบียนบรรยายถึงว่าของใครอยู่ส่วนไหนเป็นจํานวนเนื้อที่เท่าใดชัดแจ้ง และที่ดินผืนดังกล่าวยังติดภาระเช่า กรณีถือได้ว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์รวม และรับผลประโยชน์ร่วมกัน ย่อมต้องทําธุรกรรมซื้อขายที่ดินเปนคณะบุคคล หรือ ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตามแนววินิจฉัยกรมสรรพากรอ้างอิงถึงหนังสือตอบข้อหารือ เลขที่ กค 0811/02985 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2542 ซึ่งกลุ่มผู้ขายทั้ง 12 ราย จะมีภาระต้องชําระภาษีและที่ค่าธรรมเนียมที่สํานักงานที่ดิน รวมทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) จากส่วน แบ่งกําไรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2481 เป็นจํานวนเงินรวมทั้งสิ้น 580,378,106.05 บาท แต่กลุ่มผู้ขายได้ร่วมมือกับ บริษัทแสนสิริฯ ทํานิติกรรมอําพรางเพื่อหลบเลี่ยงภาษีที่พึงชําระอย่างเป็น กระบวนการ ดังนี้

1. เมื่อวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2562 บริษัท แสนสิริฯ จัดการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 9/2562 บรรจุวาระการประชุมข้อ 10.5 เพื่อพิจารณาอนุมัติการซื้อที่ดิน (ระหว่างเช่า) บริเวณถนนสารสิน แขวงลุมพินี เขตปทุมวันกรุงเทพมหานคร เพื่อนํามาพัฒนาเป็นโครงการอาคารชุดอยู่อาศัย โดยที่ประชุมนําโดย นายอภิชาติ จูตระกูลประธานในที่ประชุม, นายวันจักร์ บุรณศิริ กรรมการและประธานผู้บริหารสายงาน การเงินและสนับสนุนธุรกิจ และนายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมกรรมการรายอื่น มีการลงมติเปนเอกฉันท์อนุมัติการซื้อที่ดินดังกล่าว 

โดยแบ่งการซื้อ และการโอนจากผู้ครอบครองที่ดินทั้ง 12 ราย เป็นรายคนตามสัดส่วนหุ้น ปรากฎตามเอกสารหมายเลข 7 ของสําเนาคัดย่อเฉพาะวาระรายงานการประชุม คณะกรรมการ บริษัท แสนสิริฯ ทั้ง 12 ฉบับ ลงลายมือชื่อรับรองโดย นายเศรษฐาฯ นายอภิชาติฯ และนายวันจักร์ฯ (ปรากฎตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลําดับที่ 2)

2. หลังจากคณะกรรมการ บริษัท แสนสิริฯ มีมติอนุมัติการซื้อที่ดินดังกล่าว และจัดเตรียม สําเนาคัดย่อเฉพาะวาระฯแยกตามผู้ขายทั้ง 12 ราย เป็นรายคนแล้ว บริษัท แสนสิริฯ ได้ทําการนัดหมายผู้ขายแต่ละรายเพื่อชําระเงิน และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวที่สํานักงานที่ดินเขตพระนคร โดยใช้วิธีการนัดหมายวันละ 1 ราย ติดต่อกัน 12 วัน แบ่งเป็นวันพฤหัสบดีที่ 22 – วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2562, วันจันทร์ที่ 26 – วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2562 และวันจันทร์ที่ 2 – วันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2562 (ปรากฎตามสิ่งที่ ส่งมาด้วยลําดับที่ 3 และ 4) 

โดยการกระทําดังกล่าวเป็นการทํานิติกรรมอําพราง เพื่อให้เข้าใจว่าผู้ขายทั้ง 12 ราย ต่างคนต่างขายที่ดินให้กับบริษัท แสนสิริฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการขายที่ดินเป็นคณะบุคคลในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา 1356 แห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทําให้ผู้ขายทั้ง 12 ราย ต่างคนต่างชําระภาษี และค่าธรรมเนียมเฉพาะที่สํานักงานที่ดินฯ เป็นเงินรวมกันเพียง 59,247,317 บาท ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วการขายที่ดินดังกล่าว เข้าลักษณะการขายในรูปแบบคณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ซึ่งผู้ขายทั้ง 12 ราย จะมีภาระค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปีจากการแบ่งกําไรตามอัตราก้าวหน้าสูงสุดร้อยละ 35 แต่บริษัท แสนสิริฯ โดยนายเศรษฐา กับพวก กลับร่วมกันกับกลุ่มผู้ขายในการหลีกเลี่ยงภาษีดังกล่าว ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีที่พึงชําระเป็นเงินทั้งสิ้น 521,130,789.05 บาท

3. หลังจากบริษัทแสนสิริฯ และผู้ขายกระทํานิติกรรมอําพรางตามข้อ 2 แล้ว วันจันทร์ที่ 24 กันยายน 2562 บริษัทแสนสิริฯ ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2562 ลงมติอนุมัตินําที่ดินแปลงดังกล่าวจํานองทั้งแปลงแก่ผู้รับจํานอง คือ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน) เพื่อเป็นประกันหนี้สินของ บริษัท แสนสิริฯ อันจะพึงมีต่อบริษัท ธนาคารกสิกรไทยฯ เป็นจํานวนเงิน 1,103,000,000.00 บาท (ปรากฎ ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลําดับที่ 5) อันเปนการผิดวิสัยของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปที่โดยปกติจะชําระเงินมัดจําแก่ผู้ขาย เพื่อนําโฉนดที่ดินทั้งแปลงเข้าจดจํานองเป็นหลักประกันเงินกู้กับสถาบันการเงิน และนําเงินกู้จํานวนดังกล่าวมาชําระเป็นค่าที่ดินบางส่วน แต่เนื่องจากพฤติการณ์ร่วมกันทํานิติกรรมอําพรางระหว่าง บริษัท แสนสิริฯ และผู้ขาย ที่กระทําการหลบเลี่ยงภาษี โดยการแบ่งชําระและโอนที่ดินแบบแบ่งเป็นรายบุคคลแยกกันไปในแต่ละวัน จะทําให้สถาบันการเงินทั่วไปไม่สามารถออก แคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายแยกเป็นรายคนได้ เนื่องจากเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน จึงทําให้ บริษัท แสนสิริฯ จําเป็นต้องสั่งจ่ายเช็ค และเงินสดบางส่วน ให้แก่ผู้ขายไปก่อน อันแสดงให้เห็นถึงเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ของ บริษัท แสนสิริฯ ที่ร่วมกันกับผู้ซื้อในการหลบเลี่ยงค่าภาษีอากรอันพึงชําระ

จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า บริษัท แสนสิริฯ ได้ให้ความร่วมมือกับผู้ซื้อกระทํา นิติกรรมอําพราง เพื่อหลบเลี่ยงภาษีอากรอันพึงชําระ ทําให้รัฐสูญเสียรายได้รวม 521,130,789.05 บาท ซึ่ง บริษัท แสนสิริฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญการทําธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีความชํานาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าการกระทําดังกล่าวข้างต้นเป็นเจตนาหลบเลี่ยงภาษี 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งแยกสําเนาคัดย่อรายงานการประชุมฯ เพื่อทํานิติกรรมที่สํานักงานที่ดินร่วมกับผู้ขายแบบแบ่งเป็นรายคน แทนที่จะกระทําการเพียงวันเดียวตามวิสัยปกติของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ทําการซื้อที่ดินแปลงเดียวย่อมดําเนินการโอนเพียงครั้งเดียวทั้งแปลง จึงเชื่อได้ว่ามีการร่วมมือกันทํานิติกรรมอําพราง อย่างเป็นกระบวนการ อันเปนการผิดหลักธรรมาภิบาลของบริษัทมหาชน และเป็นความผิดตาม มาตรา 37 (2) แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 

อีกทั้งยังร่วมกันสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สํานักงานที่ดินในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 

ทั้งนี้ จึงเรียนมายังท่านอธิบดีกรรมสรรพากร โปรดดําเนินการตรวจสอบการชําระภาษีอากรของที่ดินแปลงดังกล่าว ว่ากระทําโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทํานองเดียวกัน หลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือไม่ หากได้ผลเป็นประการใดกรุณาแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบ ด้วยจักขอบพระคุณอย่างสูง ขอแสดงความนับถือ (นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์)

ทั้งนี้ นายชูวิทย์ ยังกล่าวระหว่างการยื่นเอกสารด้วยว่า การกระทำที่เกิดขึ้นถือเป็นการที่นายเศรษฐา กระทำเมื่อครั้งเป็นผู้บริหาร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือว่าเป็นการทำผิดธรรมาภิบาล ซึ่งหากให้คนอย่างนายเศรษฐา ขึ้นเป็นนายกฯ เพราะจะทำให้ประเทศชาติเสียหายมากขนาดไหน

“งานนี้รับประกันเลยว่านายเศรษฐาไม่รอดแน่ หากให้พูดคือนายเศรษฐา ครั้นเมื่อเป็นผู้บริหารบริษัท แสนสิริฯ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมาทำแบบนี้และพูดว่าผมไม่รู้ มีหน้าที่เซ็นอย่างเดียว และหากวันหนึ่งได้ก้าวมาเป็นนายกฯ และพูดประโยคเดียวกันนี้ เช่น ผมไม่รู้ว่ามีการทุจริต ก็ลองถามประชาชนว่าจะรับได้หรือไม่ ซึ่งสิ่งที่ตนอยากจะบอกคือการทำหน้าที่พ่อค้าวานิช กับนายกฯ มีความแตกต่างกันมาก” นายชูวิทย์ กล่าว