“เอ็กซิมแบงก์” ยอมรับครึ่งปีแรกขาดทุน 1, 400 ล้านบาท หนี้เสียพุ่ง 6.37%

  • คาดครึ่งปีหลังเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว
  • แม้ส่งออกทั้งปีจะหดตัวถึงลบ 10%
  • เล็งพักหนี้เอสเอ็มอีเพิ่มหลังหมดระยะเวลา

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือ เอ็กซิมแบงก์ (EXIM BANK)​กล่าวหลังแถลงทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลังปี 63 และผลการดำเนินงานของธนาคารว่า ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของธนาคารนั้น ธนาคารมีกำไรก่อนจะมีการสำรองหนี้สงสัยเผื่อสูญที่ 1,163 ล้านบาท โดยหลังจากธนาคารต้องกันสำรองเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9)​ เป็น 2,098 ล้านบาท บวกกับการกันสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 2,579 ล้านบาท รวมแล้วช่วงครึ่งปีแรกธนาคารมีการสำรองหนี้สงสัยเผื่อสูญสูงถึง 5,487 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากการที่ธนาคารกันสำรองหนี้เผื่อสูญฯ ไว้สูง ทำให้ครึ่งปีแรก ธนาคารขาดทุนกำไรสุทธิเพียง 1,416 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนปัจจุบันธนาคารมีเงินให้สินเชื่อคงค้าง 126,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.02% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 35,655 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อการลงทุน 90,836 ล้านบาท

ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)​ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. อยู่ที่ 6.37% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 4.6% ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่ถดถอยจากช่วงต้นปีเพราะการระบาดของโควิด-19 ส่วนสิ้นปีนี้คาดว่าหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการบริโภคและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)​ปี 2563 น่าจะติดลบ 6-8% และการส่งออกน่าจะติดลบถึง 8-10% ทั้งนี้โอกาสการเติบโตของภาคส่งออกขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระเงินค่าสินค้าของผู้ซื้อ และความเสี่ยงด้านความผันผวนของค่าเงิน ”

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ธนาคารได้ช่วยเหลือผู้ส่งออก โดยพักต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งมีลูกค้าพักหนี้กว่า 1,000 ราย และกว่า 81% เป็นผู้ส่งออกระดับเอสเอ็มอี ซึ่งมีความต้านทานปัจจัยเสี่ยงได้น้อย เช่น ความเสี่ยงจากคำสั่งซื้อที่ลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ความเสี่ยงในการไม่ได้รับค่าสินค้า และความเสี่ยงค่าเงิน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการพักหนี้ในเดือนก.ค.นี้ เอ็กซิมแบงก์อาจต้องยืดระยะเวลาการพักหนี้ให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีบางกลุ่มออกไป เพราะผู้ประกอบการบางรายยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ 100 %

นอกจากนี้ช่วงครึ่งหลังปี 2563 ธนาคารฯได้เตรียม 3 ผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่งออก ขนาดเล็กและกลาง เพื่อให้สามารถปรับตัวรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและต่างประเทศได้ ประกอบด้วย 1.บริการประกันการส่งออกสำหรับผู้ประกอบการขนาดย่อม (EXIM for Small Biz) รายได้ปีละไม่เกิน 100 ล้านบาท จ้างงานไม่เกิน 50 คน ที่เพิ่งเริ่มต้นส่งออก ไม่เคยใช้บริการประกันการส่งออก และมีแผนจะส่งออกมูลค่าไม่สูง สามารถขออนุมัติวงเงินผู้ซื้อกับธนาคารฯ ตั้งแต่ 100, 000 -5 00,000 บาท วงเงินรับประกันสูงสุด 2 ล้านบาทต่อรายผู้เอาประกัน

2.สินเชื่อเอ็กซิมเสริมทุนธุรกิจขนาดกลาง (EXIM Amazing M Credit) เป็นทุนหมุนเวียน เพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ วงเงินสูงสุด 80 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 3.75% ต่อปี

และ 3.สินเชื่อเอ็กซิมเสริมไทยเก่ง (EXIM Star Credit) เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับผู้ส่งออกเอสเอ็มอีใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, กลุ่มอาหาร คือ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และ กลุ่มเครื่องสำอาง คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติปรุงแต่งดูแลร่างกาย วงเงินสูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 4.75% ต่อปี ลดอัตราอัตราดอกเบี้ยเหลือ 4.00% กรณีส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ ประเทศ กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ตัว น่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มยอดสินเชื่อทั้งปีเพิ่มขึ้นราว 2-3%