“เอฟทีเอ” พามะม่วงสดไทยไปรอบโลก

  • 5เดือนแรกปี63ยอดส่งออก41ล้านเหรียญฯ
  • อาเซียน จีน ฮ่องกง นำเข้าสูงสุด3อันดับแรก
  • แนะผู้ประกอบการไทยใช้เอฟทีเอสร้างแต้มต่อส่งออก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มะม่วงสดของไทยเป็นหนึ่งในสินค้าดาวเด่นมาแรง มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้อยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยในช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปีนี้ ไทยส่งออกมะม่วงสดปริมาณกว่า 57,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 62 โดยส่งออกไปอาเซียนมากสุดที่ 15.3 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 143% หรือคิดเป็นสัดส่วน 37.5% ของการส่งออกมะม่วงสดไทยไปโลก ส่วนจีน ส่งออกได้   5.3 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 71% ฮ่องกง 0.85 ล้านเหรียญฯ ขยายตัวถึง 196%

“ปัจจุบันไทยครองแชมป์ผู้ส่งออกมะม่วงสดอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยในปี 62 ไทยส่งออกมะม่วงสดไปตลาดโลก 59 ล้านเหรียญฯ และส่งออกไปประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) มูลค่า 57 ล้านเหรียญฯ คิดเป็น 96% ของการส่งออกมะม่วงสดทั้งหมด สาเหตุที่ทำให้ไทยส่งออกมะม่วงได้มาก เป็นเพราะเอฟทีเอ มีส่วนช่วยสร้างแต้มต่อให้กับการส่งออก เพราะล่าสุด คู่เอฟทีเอของไทย 15 ประเทศ จาก 18 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้ามะม่วงสดไทยแล้ว คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู ส่วนอีก 3 คือ ลาว และกัมพูชา ยังเก็บภาษีนำเข้า 5% และเกาหลีใต้ เก็บที่  24%”  

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกมะม่วงสดของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอ ในปี 62 กับปี 35 ซึ่งเป็นปีก่อนที่เอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ พบว่า มูลค่าการส่งออกมะม่วงสดเพิ่มสูงขึ้นถึง 4,920% และหากแยกรายตลาดพบว่า อาเซียน ขยายตัวถึง 1,000% ขณะที่จีน ขยายตัว 1,365,775% เมื่อเทียบกับปี 45 ก่อนจีนยกเลิกภาษีนำเข้าภายใต้เอฟทีเออาเซียน-จีน และเกาหลีใต้ ขยายตัว 4,824% เมื่อเทียบกับปี 52 ก่อนเกาหลีใต้ลดภาษีนำเข้าภายใต้เอฟทีเออาเซียน-เกาหลีใต้ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานสินค้าและพัฒนาคุณภาพการผลิตอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่การเพาะปลูก การบรรจุหีบห่อ การมีใบรับรองสุขอนามัยพืช รวมทั้งระมัดระวังการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง เพราะปัจจุบันหลายประเทศเข้มงวดและผู้บริโภคนิยมผลไม้ปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น