เอกชน ขอนำเข้าแรงงานแล้วกว่า 2.4 แสนคน “บิ๊กป้อม”เตือนนายจ้างทำให้ถูกกฎหมาย

  • ไม่จ้างแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย
  • ให้คำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของคนในประเทศ
  • ชี้ยังมีความต้องการแรงงานไม่น้อยกว่า 120,000 คน

วันที่ 9 กรกฎาคม 2565 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกิจการประมงทะเลและกิจการต่อเนื่อง และกิจการบางประเภทที่คนไทยไม่นิยมทำ โดยบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมีประสิทธิภาพ รัดกุม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง/สถานประกอบการ ลดปัจจัยที่ทำให้เกิดการลักลอบเข้าเมืองมาทำงานอย่างผิดกฎหมายของแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน และป้องกันความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งหลังจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบนโยบายบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามที่มีสถานะไม่ถูกต้อง ที่ประสงค์จะทำงานและมีนายจ้าง สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 25 66 โดยหากประสงค์จะทำงานต่อไป สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 โดยต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทย และประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้อง

“กระทรวงแรงงานได้สำรวจข้อมูลจากนายจ้างสถานประกอบการพบว่า ยังมีความต้องการแรงงานประมาณไม่น้อยกว่า 120,000 คน และได้เห็นชอบให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่มีสถานะถูกต้อง ที่ประสงค์จะทำงานต่อไป ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มมติ ครม. วันที่ 29 ธันวาคม 2563 มติครม. วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 มติครม. วันที่ 28 กันยายน 2564 จำนวนประมาณ 1,690,000 คน อยู่และทำงานได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 68” พล.อ.ประวิตร กล่าว

นอกจากนี้ รองนายกฯ กล่าวว่ารัฐบาลได้ปรับมาตรการการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานตามเอ็มโอยู (MoU) และการนำแรงงานข้ามชาติสัญชาติกัมพูชาและเมียนมา เข้ามาทำงานแบบไปกลับ หรือตามฤดูกาล (มาตรา 64) โดยไม่ต้องกักตัว ตามแนวทางของศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 หรือ ศบค. ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยไม่ยุ่งยาก จึงย้ำเตือนและขอความร่วมมือนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการที่คิดจ้างแรงงานผิดกฎหมาย ให้คำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของคนในประเทศ ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 ไม่จ้างแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย

“กระทรวงแรงงานมีกระบวนการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามเอ็มโอยูอย่างเป็นระบบ รวมทั้งดำเนินมาตรการใช้กำลังแรงงานที่มีอยู่ในประเทศเป็นลำดับแรก มีการวางแผนให้ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวในระบบการทำงานอย่างเพียงพอกับความต้องการ ซึ่งคนต่างด้าวที่ได้รับผ่อนผันตามมติ ครม.ในวาระต่างๆ หากดำเนินการตามขั้นตอนภายในระยะเวลาที่กำหนด จะสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องหลบซ่อน มีสวัสดิการ ได้รับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมและได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายแรงงานไม่ต่างจากคนไทย” พล.อ.ประวิตร กล่าวย้ำ

ด้าน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงานมุ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยนำเข้าแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ มาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามเอ็มโอยู ปัจจุบันมีการยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ (Demand) ตามระบบเอ็มโอยูจำนวน 6,282 คำร้อง รวมทั้งสิ้น 248,613 คน แยกเป็น สัญชาติกัมพูชา 54,915 คน ลาว 19,909 คน และเมียนมา 173,789 คน ซึ่งแรงงานข้ามชาติทั้ง 3 สัญชาติ มีการทยอยเข้ามาทำงานแล้วอย่างต่อเนื่อง

“ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานขอความร่วมมือนายจ้าง/สถานประกอบการให้ความสำคัญกับการใช้แรงงานถูกกฎหมาย โดยกระทรวงแรงงานมีหน้าที่ตรวจสอบ ปราบปรามจับกุมและดำเนินคดีแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย อัตราโทษของนายจ้าง ที่รับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าว 1 คน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี อัตราโทษของคนต่างด้าว ที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท ถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทาง และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี” นายสุชาติ กล่าว