“เผ่าภูมิ” ลั่นชัด! คลังพับแผนจัดเก็บภาษีขายหุ้น ตั้งธงมีรายได้ภาษีกลับคืนจาก “ดิจิทัล วอลเล็ต” 1 แสนล้าน

“เผ่าภูมิ” เผยชัดคลังไม่มีแผนจัดเก็บภาษีขายหุ้น ลั่นอยากเห็นตลาดทุนไทยมีสภาพคล่องสูง-มีเสถียรภาพ ลั่นนโยบาย ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ จะสร้างรายได้ภาษีกลับคืนราว 1 แสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 ก.ย.66) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังขอยืนยันว่า กระทรวงฯยังไม่มีนโยบายที่จะจัดเก็บภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax) 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การออกมาแถลงข่าวในครั้งนี้ของกระทรวงการคลัง เป็นที่จับตามองว่าเป็นการออกมาเคลียร์ความชัดเจน หลังมีกระแสข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ของ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.พรรคก้าวไกล ที่ได้มีการระบุว่า ในแผนการคลังระยะปานกลางของกระทรวงการคลังได้มีการระบุว่า ประมาณการณ์รายได้ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ 2567 จำนวน 14,000 ล้านบาท นั้นจะมาจากการจัดเก็บภาษีขายหุ้น

นายเผ่าภูมิ กล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังขอชี้แจงทิศทางของตลาดทุนไทย ที่กระทรวงต้องการเห็นในรัฐบาลชุดนี้จะประกอบไปด้วย 4 ข้อหลัก คือ 1. อยากเห็นตลาดทุนไทยมีสภาพคล่องสูง และมีเสถียรภาพ 2.มีปริมาณการซื้อขายที่สูง และมีคุณภาพ 3.เป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุน และบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียน โดยในแง่ของนักลงทุน ตลาดทุนจะต้องเป็นที่น่าสนใจ มีความสามารถในการแข่งขัน และมีกฎระเบียบที่ผ่อนปรนเอื้อต่อการลงทุน ส่วนในแง่ของบริษัทจดทะเบียนนั้น ต้องการเห็นตลาดทุนไทย เป็นตลาดที่สามารถแข่งขันได้กับตลาดทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะแข่งขันได้กับตลาดหลักทรัพย์ของสิงคโปร์ และ 4.เป็นตลาดที่มีต้นทุนการระดมทุนที่ต่ำ เสมือนเป็นอิฐก้อนแรกในระบบเศรษฐกิจ เพราะถ้าบริษัทมีต้นทุนการเงินที่ต่ำ ก็จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้

“กระทรวงการคลัง จำเป็นต้องมีนโยบายต่อตลาดที่เหมาะสม ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงยังไม่พิจารณานโยบายการจัดเก็บภาษีขายหุ้น ซึ่งจะช่วยให้ตลาดทุนเกิดความสบายใจ และมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น รัฐบาลต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สามารถเติบโต และเป็นอิฐก้อนแรกในระบบเศรษฐกิจ สร้างระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยเอกชน” นายเผ่าภูมิ กล่าว

นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า หากไม่มีการจัดเก็บภาษีขายหุ้น กระทรวงการคลังก็ยังเชื่อว่าจะยังสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยจะมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี โดยที่ยังไม่นับรวมผลกระทบจากนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต (Digital Wallet)

“สำหรับนโยบาย Digital Wallet ของรัฐบาลที่คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในไตรมาสแรกของปี 67 จะเป็นการอันฉีดงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 5.6 แสนล้านบาท เน้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลจะได้รับกลับมาจากเงินจำนวนนี้ที่หมุนอยู่ในระบบเศรษฐกิจคือ รายได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยคาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้ภาษีกลับคืนมาจากนโยบายนี้ราวๆ 100,000 ล้านบาท” นายเผ่าภูมิ กล่าว

ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า สำหรับแผนการคลังระยะปานกลาง ปี2567 – 2570 ที่รัฐบาลได้เสนอ เข้าครม.ไปแล้วนั้น ได้มีการกำหนดประมาณการรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ2567 ไว้ที่ 2.787 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิม 30,000 ล้านบาท โดยมีงบประมาณรายจ่าย 3.48 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณขาดดุล 6.93 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ สำหรับประมาณการรายได้ของปีงบประมาณ 2567 ที่ 2.787 ล้านล้านบาทดังกล่าว ซึ่งในแผนการคลังระยะปานกลางได้ระบุว่า จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีขายหุ้น 14,000  ล้านบาทนั้น ซึ่งตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังปี2561 ได้ระบุให้หน่วยงานของรัฐ สามารถทบทวนแผนการดังกล่าวได้ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่