คลังเปิด 5 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจปี 65 ชี้ลดภาษีน้ำมันรายได้หายแน่เดือนละ 2 พันล้าน

  • ขอเป็นทางเลือกสุดท้ายในการพยุงราคา
  • กองทุนน้ำมันรักษาเสถียรภาพอยู่
  • คาดปีนี้จีดีพียังเติบโต 4%

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในปี 2565 ยังมีปัจจัยเสี่ยง 4 เรื่อง ได้แก่ 1. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด 2. หนี้ครัวเรือน 3.หนี้ประเทศ หรือหนี้สาธารณะ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ระดับ 59% ก็มีการวิเคราะห์ถึงทิศทางว่าหนี้สาธารณะว่า “หนี้ท่วมหัว” ซึ่งยอมรับว่าช่วงโควิด ทั้งหนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนเกิดเพราะคนตกงาน ขณะที่หนี้สาธารณะมาจากพ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อเยียวยาและบรรเทาภาระประชาชนในช่วงที่สถานการณ์ไม่ปกติ 4.ซัพพลายเชนที่มีความต้องการมากอาจทำให้ขาดตลาด และ 5. ราคาพลังงาน และอาหาร หรือสุกร และน้ำมัน

“เรื่องน้ำมัน ยังมองว่าเป็นภาวะระยะสั้น เรื่องอาหารก็เช่นกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปกำกับดูแลเรื่องราคา ก่อนที่จะพูดถึงมาตรการภาษีต่างๆ ที่ต้องการให้ไปดูแล โดยในส่วนของราคาน้ำมันนั้น ถ้าลดภาษีน้ำมันสรรพสามิต ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 5-6 บาท รายได้จะหายแน่นอน”

สำหรับรายได้ภาครัฐปีงบประมาณ 2565 ขาดดุล 7 แสนล้านบาท รายได้จากเงินงบประมาณ 2.47 ล้านล้านบาท หากลดภาษีน้ำมัน 1 เดือนรายได้จะหายไปกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งมาตรการภาษีที่จะเข้าไปช่วยเป็นมาตรการสุดท้าย เนื่องจากยังมีกองทุนน้ำมันที่ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันอยู่

อย่างไรก็ตามศูนย์คาดการณ์เศรษฐกิจหลายค่ายคาดว่าเศรษฐกิจในปี 2565 เริ่มฟื้นตัว จะขยายตัวได้ 4% จากปี 2564 ที่มองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 1% ซึ่งยังถือว่าตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้สูงมาก เนื่องจากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังไม่กลับมา โดยคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ 7 ล้านคน จากช่วงก่อนที่สถานการณ์โควิดยังไม่เกิดขึ้น มีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 40 ล้านคน แต่ตัวเลขก็จะทยอยดีขึ้น จากปี 2564 ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 4 แสนคน

“หลังจากผ่านพ้นช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งและแฮมเบอร์เกอร์ในช่วงที่ผ่านมา การเติบโตจีดีพีของประเทศไม่ได้หวือหวา อยู่ที่ระดับ 4-5% ไม่ได้เติบโตสูงขึ้นเหมือนในอดีต ซึ่งหากต้องการให้จีดีพีขยับเพิ่มขึ้นมาอีก 1% จะต้องเพิ่มขนาดเศรษฐกิจประมาณ 1-2 แสนล้านบาท เพราะจีดีพีของไทยประมาณ 17 ล้านล้านบาท โดยการที่จะให้จีดีพีเพิ่มปีละ 2 แสนล้านบาทถือเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ดังนั้น เศรษฐกิจไทยเมื่อฟื้นตัวกลับมาจะไม่ได้กลับมาอย่างหวือหวา จะอยู่ที่ประมาณ 3-4% เรื่องสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เทคโนโลยี และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต”