เปิดไทม์ไลน์ ฟื้นฟู​ “การบินไทย”

  • พร้อม 5 แนวทางแก้ปัญหา เพื่อความอยู่รอด
  • ที่ปรึกษากฎหมายแจงเจรจาเจ้าหนี้แล้ว
  • ยืนยันเครื่องไม่ถูกยึด-ยังไม่มีเจ้าหนี้รายใดยกเลิกสัญญาเช่าเครื่องบิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดการประชุมออนไลน์ให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวแทนผู้บริหารการบินไทย ที่ปรึกษาการเงินและที่ปรึกษากฎหมายเป็นผู้เปิดเผยข้อมูล โดยนางอรอนงค์ ชุณหะมาน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และบริหารกลาง การบินไทย กล่าวถึง กำหนดระยะเวลาการดำเนินการฟื้นฟูกิจการ ว่า หลังศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ทำให้การบินไทยอยู่ภายใต้สภาวะบังคับชั่วคราว (automatic stay) ไม่สามารถก่อหนี้หรือชำระหนี้ได้ เว้นแต่การดำเนินการเพื่อการค้าตามปกติเท่านั้น

สำหรับกรอบเวลาการดำเนินการฟื้นฟูกิจการเบื้องต้นนั้น วันที่13 ส.ค.นี้ จะเป็นวันสุดท้ายที่เปิดให้เจ้าหนี้ยื่นคำคัดค้านการฟื้นฟูกิจการ และ วันที17 ส.ค.63 ศาลจะนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟกูิจการ จากนั้นปลาย ส.ค.-ต้น ก.ย.63 ศาลจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และกรณีที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดทำแผนตามที่การบินไทยเสนอ ผู้จัดทำแผนจะต้องทำแผนให้เสร็จภายใน 3เดือน และส่งแผนให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.)ในเดือนม.ค. และราวเดือน ก.พ.-มี.ค.64 จพท.จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน และปลาย เม.ย.64 ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้บริหารแผน จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป สำหรับการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการนั้น จะต้องให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน โดยขอขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี

ทั้งนี้ การบินไทย ได้ เสนอแต่งตั้งผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบด้วย บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายจักกฤศฏิ์ พาราพันธกุล, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร

สำหรับแนวทางฟื้นฟูกิจการเบื้องต้นมี 5 ช่องทางดังนี้ 1.ปรับโครงสร้างหนี้ โดยจะเจรจาหนี้เพื่อ ขอขยายเวลาชำระหนี้ ลดเงินต้นและ ดอกเบี้ยลงทั้งหมดหรือบางส่วน หรือพักการชำระหนี้ เพื่อให้สอดคล่องกับกระแสเงินสดของบริษัท รวมถึงเตรียมจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มสภาพคล่องระยะสั้นและปรับโครงสร้างเงินทุนระยะยาว ทั้งการกู้สถาบันการเงิน,แปลงหนี้เป็นทุน และเพิ่มทุน เป็นต้น

2.ปรับปรุงเส้นทางการบินและฝูงบิน โดยยกเลิกเส้นทางบินที่ไม่สร้างกำไรหรือมีกำไรต่ำ และปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการเส้นทางการบินให้เหมาะสมมากขึ้น รวมถึงปรับลดประเภทเครื่องบินในฝูงบินเพื่อลดต้นทุน 3.ปรับปรุงหน่วยธุรกิจ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหาร เช่น จัดตั้งบริษัทย่อย และจัดหาพันธมิตรมาร่วมทุน รวมถึงมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำกำไร

4.ปรับปรุงกลยุทธ์ด้านพาณิชย์และการหารายได้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการหารายได้ เช่น ขยายช่องทางการจำน่ายบัตรโดยสารให้หลากหลายมากขึ้น, นำเทคโนโลยีมาช่วยกำหนดราคา และปรับปรุงโครงสร้างค่าตอบแทนของตัวแทนจำหน่ายให้เหมาะสมและรัดกุมยิ่งขึ้น 5.ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยลดงานที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น, เพิ่มศักยภาพการทำงานแต่ละหน่วยธุรกิจให้สอดคล้องเชื่อมโยงกัน, ปรับลดจำนวนพนักงานและผลตอบแทนให้สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำลังการผลิต แต่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงาน และสวัสดิการของพนักงานเปลี่ยนไปเข้าระบบประกันสังคมตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

นายกิตติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายได้ตอบคำถามที่ว่าเครื่องบินการบินไทยจะถูกยึดหรือไม่และเหตุใดจึงไม่ยื่นเข้ากฎหมายล้มละลายของสหรัฐฯ Chaper 11 เพื่อขอรับความคุ้มครองทั่วโลกฯนั้น นายกิตติพงศ์กล่าวว่า ได้มีการเจรจากับเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินแล้วหลายเจ้า โดยเจ้าหนี้ได้ผ่อนผันให้ใช้เครื่องบินไปก่อน และจะไม่ยึดเครื่องที่บินไปต่างประเทศ ยืนยันว่า ณ ขณะนี้ไม่มีเจ้าหนี้รายใดแจ้งยกเลิกสัญญา หรือยึดเครื่องบินของการบินไทย ส่วนการยืน Chaper 11 ของสหรัฐฯ นั้นขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น การยืน Chaper 11 อาจยุ่งยากและเสียเวลามากพอสมควร ซึ่งจะเป็นทางออกสุดท้าย แต่ก็ไม่ได้ตัดช่องทางนี้

ด้านนายอัสสเดช คงสิริ กรรมการผู้จัดการ บล. ฟินันซ่า ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ระบุว่า ขณะนี้การบินไทยพ้นจากรัฐวิสาหกิจแล้ว ระหว่างฟื้นฟูกิจการกระทรวงการคลังไม่สามารถให้กู้ได้โดยตรงหรือค้ำประกันเงินกู้ได้ ส่วนแหล่งเงินทุนอนาคตขึ้นกับแผนที่จะได้อนุมัติออกมาทั้งจากการเพิ่มทุน หรือแปลงหนี้เป็นทุน หรือทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม หรือจากพันธมิตรใหม่ที่จะเข้ามา ส่วนคำถามที่ว่าสถานะการเงินของบินไทย นั้นขณะนี้มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะหยุดบินได้นานแค่ไหน ขณะนี้ได้บริหารสภาพคล่องอย่างรัดกุม มีการลดค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาสภาพคล่องให้ยาวนานที่สุด ส่วนจะกลับมาบินได้ปกติเมื่อไรนั้น ได้มีการประเมินความพร้อมตลอดเวลา ส่วนขอเงินคืนจากบัตรโดยสารที่จ่ายไปแล้วได้หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังคงเปิดรับเรื่องของรีฟันด์ของลูกค้าแต่ยังไม่สามารถคืนเงินให้ได้ ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทำให้ไม่สามารถประกาศนโยบายที่ขัดเจนออกมาในตอนนี้ได้