เปิดความในใจ “เฉลิมชัย”ต่อหน้า 19 องค์กรเกษตรกร “คัดค้านการแบน 3 สาร” เข้าใจเกษตรกรทุกอย่าง รับรู้ในข้อเท็จจริง ใครออกมาค้านโดนด่าเละเทะ

  • เผยตั้งคณะกรรมการฯมาช่วยแล้ว เมื่อได้รายงานนายกฯ ทุกอย่างจะจบ
  • ย้ำเกิดมาชาติเดียวจะแก้ปัญหาให้มากที่สุด
  • 19 องค์กรเกษตรกรยืนยันม๊อบมาแน่ 5,000 คน ขอแค่จำกัดการใช้

เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2562 เวลา 14.00 น.ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 19 องค์กรเกษตรกร ประกอบด้วย สมาพันธ์เกษตรปอลดภัย สมาคมเกษตรปลอดภัย สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร สภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สมาคมโรงงานแป้งมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครือข่ายเกษตรกรผลไม้จังหวัดจันทบุรี กลุ่มเกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โคราช นครสวรรค์ และลพบุรี ได้หารือร่วมกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มอบหมายให้หาข้อเท็จจริงของการคัดค้านการแบนพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส

โดยเครือข่าวเกษตรกรได้ออกคำแถลงการณ์ต่อ รมว.เกษตรฯ มีสาระสำคัญว่า เครือข่ายเกษตรกรทุกองค์กรด้านบนเห็นพ้องต้องกันว่า การแบนสารกำจัดวัชพืช พาราควอต ไกลโฟเซต จะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และกระทบต่อเกษตรกรโดยตรง ต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมแปรรูป ทั้งการนำเข้า และโดยเฉพาะการส่งออกที่ทำรายได้เข้าประเทศ เนื่องจากยังไม่สามารถหาวิธีการและสารอื่นมาทดแทนได้ สำหรับสารกำจัดแมลงคลอร์ไพรีฟอสยังสามารถหาสารกำจัดแมลงชนิดอื่นมาทดแทนได้ เกษตรกรไม่เห็นด้วยกับการนำภาษีของประชาชนมาจ่ายค่าชดเชยให้กับเกษตรกรหลังแบนสารเคมี และไม่เห็นด้วยกับการยืดเวลาออกไป 6 เดือน เพราะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร และภาคการเกษตรของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

จึงขอให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ แก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนของเกษตรกรอย่างเร่งด่วนดังนี้ 1.ขอให้ เสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้กลับไปใช้มาตรการจำกัดการใช้กับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 และ 14 ก.พ. 2562 ที่มีการประเมินด้านสุขภาพและผลกระทบอย่างรอบครอบแล้ว 2.หากภาครัฐยังจะต้องหาวิธีการทดแทน หรือสารทดแทน จะต้องทำให้แล้วเสร็จ เป็นที่ยอมรับ และเกษตรกรมีความมั่นใจว่าวิธีการนั้นจะแก้ปัญหาได้จริง จึงจะสามารถแบนพาราควอต ไกลโฟเซตได้

ผู้สื่อข่าวรายงานวา เมื่อเวลา 14.00 น.ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 19 องค์กรเกษตรกร ประกอบด้วย สมาพันธ์เกษตรปอลดภัย สมาคมเกษตรปลอดภัย สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร สภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สมาคมโรงงานแป้งมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครือข่ายเกษตรกรผลไม้จังหวัดจันทบุรี กลุ่มเกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โคราช นครสวรรค์ และลพบุรี ได้หารือร่วมกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มอบหมายให้หาข้อเท็จจริงของการคัดค้านการแบนพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส

จากนั้น เวลา 16.30 น.นายเฉลิมชัย เปิดเผยหลังการหารือว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 พ.ย. นี้ จะหารือกับนายสุริยะ เป็นการส่วนตัว แต่จะไม่รายงานครม. เพราะเรื่องการแบนหรือไม่แบนสารนั้นเป็นอำนาจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเฉลิมชัย ได้กล่าวกับเกษตรกรในที่ประชุมว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด โดยมีนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และนายอนันต์ ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ ที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธานด้วย ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือฯประชุมกันต่อเนื่อง เพื่อรับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงจากทุกส่วนที่ เพราะตนทราบว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะมีการแบน 3 สารนี้ ซึ่งการแบนสารตัวนี้ถ้าจะไปดูในส่วนของขั้นตอนจริงๆแล้วก็ยังทำไม่ได้

“ผมเรียนท่านเลยผมบริหารประเทศ ไม่ใช่บริหารครอบครัว เข้าใจตรงกัน ผมปลูกอ้อยมา 30 กว่าปี เป็นเถ้าแก่เองเป็นอะไรเองทั้งหมด ผมเข้าใจ รับรู้ในข้อเท็จจริง และจะให้มีการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปให้พิจารณา ขณะนี้ที่ท่านปลัดออกมา กรมวิชาการออกมา เสนอข้อเท็จจริงก็โดนด่าเละเทะ แต่ผมถือว่าผมทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา เพื่อที่จะเอาไปรายงานให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ ถามว่าในส่วนตัวท่านนายกทราบไหมผมเชื่อว่าท่านทราบ แต่การทราบถ้ามีการรายงานขึ้นไป ทั้งในด้านวิชาการทั้งข้อเท็จจริง ก็จะเป็นส่วนประกอบในการพิจารณา ซึ่งผมให้ดำเนินการตั้งแต่ต้น แม้จะโดนต่อว่าแต่ไม่เป็นไรผมใช้อำนาจของผม ผมมาบริหารประเทศมาแก้ปัญหาไม่ใช่มาตอบโต้ ผมก็เดินหน้าทำไป ผมอยู่กระทรวงเกษตรผมต้องดูแลพี่น้องเกษตรกรอยู่แล้ว ผมตั้งใจทำงานเพื่อเกษตรทุกด้าน และผมเป็นผู้บริหารจะให้ผมไปรบ ไปทะเลาะ มันไม่ใช่ สิ่งที่ผมกำลังทำอยู่คือการหาทางแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด“

นายเฉลิมชัย กล่าวในที่ประชุมต่อว่า เมื่อเรื่องเดินมาถึงขนาดนี้ ต้องยอมรับอยู่อย่างว่าในวันนั้นขยับช้าไปนิดนึง แต่ตอนนี้ก็พยายามหาทางแก้ไขให้ แล้ววันนี้นายสุริยะมาเป็นประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็เริ่มอ่อนลงแล้ว เพราะภาคอุตสาหกรรมกระทบเหมือนกัน และจะลุกลามไปถึงผู้บริโภค เชื่อเถอะว่าข้าราชการกระทรวงเกษตรทุกคนไม่ได้มีความสุขหรอกถ้าพี่น้องเกษตรกรเดือดร้อน กรมวิชาการเกษตรก็เป็นหนังหน้าไฟ การเสนออะไรตามหลักวิชาการบางทีไม่ถูกใจ มีการเสนอประเด็นผลกระทบและรายงานทั้งหมดให้นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการวัตถุอันตรายรับทราบ ทุกอย่างก็จบ ฉะนั้นขอให้เข้าใจว่าไม่ได้นิ่งดูดาย

“การหารือกันในวันนี้ผมก็ให้จัดทำบันทึกการประชุมเพื่อรายงานไปยังนายกรัฐมนตรี และจะทำรายงานไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายด้วย ฉะนั้นสิ่งที่ท่านมายื่นในวันนี้ ไม่ต้องห่วงว่าผมจะเอาไป เสียบไว้ใต้โต๊ะ ผมก็ทำงาน เกิดมาชาติเดียว ไม่ได้มีชาติที่สอง ผมก็ไม่อยากโดนด่า พยายามทำทุกอย่างให้ได้การรับการแก้ปัญหามากที่สุดมีกระทบบ้าง ทำงานกับเกษตรกรเป็นลิ้นกับฟันก็มีบ้าง ไม่มีหรอกที่จะสะดวกราบรื่นล้านเปอร์เซ็นต์ มีปัญหาก็ช่วยกันแก้”

ด้านนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรม ยกเลิก 3 สารเคมีเกษตร ผลออกมาชัดเจนแล้วว่า 75% ไม่ต้องการให้แบนสารเคมีเกษตร จากกลุ่มตัวอย่าง 48,789 ราย แต่ในความเป็นจริงมีเกษตรกรอีกกว่า 1.5 ล้านราย ได้แสดงความจำนงค์ต้องการใช้และไม่ต้องการแบนผ่านการเข้ารับการอบรมเพื่อขอซื้อและใช้สารเคมีดังกล่าว ควรนับรวมเป็นคะแนนที่คัดค้านการแบน ซึ่งจะส่งผลให้รวมแล้วเกือบ 100% ไม่ต้องการให้แบนสารฯ

“วันอังคารที่ 26 พ.ย.นี้ จะเป็นอีกหนึ่งวันที่กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจะมาร่วมแสดงพลัง สะท้อนให้ภาครัฐได้เห็นถึงผลกระทบของการแบนสามสารเคมีเกษตรที่มีต่อเกษตรกรพืชไร่และไม้ผลต่าง ๆ เบื้องต้น เกษตรกรกว่า 5,000 รายเตรียมเดินทางมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทำเนียบรัฐบาลแล้ว หวังว่า จะไม่โดนหน่วยงานภาครัฐสกัดกั้นเช่นในอดีตที่ผ่านมา ส่วนวันพุธที่ 27 พ.ย. เกษตรกรจะยังคงปักหลักอยู่กรุงเทพฯ และเดินทางไปรับฟังผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่อีกครั้งที่ กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป เพื่อให้มั่นใจ รมว. เกษตรฯ รมว. อุตสาหกรรม และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้พิจารณาอย่างรอบคอบและกลับไปใช้มาตรการจำกัดการใช้ฯ ตามข้อเสนอของเกษตรกรกว่า 1.5 ล้านราย ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เกือบ 2 ล้านล้านบาท”