เด็กจบใหม่เตะฝุ่นบาน!หลัง“สภาพัฒน์”เปิดตัวเลขคนว่างงานกว่า 6.3 แสนคน

นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยถึงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2564 ว่า มีการจ้างงาน 37.9 ล้านคน ลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของกำลังแรงงาน แต่หากเทียบปี 2564 กับปีก่อน พบว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้น 0.2% โดยการจ้างงานในภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.8% ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรหดตัว 0.6% ในช่วงไตรมาส 4 แรงงานมีจำนวนชั่วโมงการทำงาน 45.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

ทั้งนี้เช่นเดียวกับผู้ทำงานต่ำระดับและผู้เสมือนว่างงานที่มีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยผู้ทำงานต่ำระดับมี 4.38 แสนคน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มี 7.78 แสนคน และผู้เสมือนว่างงานมี 2.6 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มี 3.2 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ผู้มีงานทำมากกว่า 50 ชั่วโมง/สัปดาห์ หดตัว 12.5% สะท้อนว่าแรงงานยังไม่ได้ทำโอที

นางสาวจินางค์กูร กล่าวว่า ส่วนอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 4 อยู่ที่ 1.64% หรือมีจำนวนผู้ว่างงาน 6.3 แสนคน ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีที่อัตราว่างงานอยู่ที่ 2.25% หรือมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน และเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2/2563 โดยเฉพาะจำนวนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 3.79 แสนคน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวน 5.84 แสนคน อย่างไรก็ตาม การว่างงานในกลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาใหม่อยู่ที่ 2.52 แสนคน เพิ่มขึ้น 4.1%

สำหรับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือน จากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 3/2564 พบว่าหนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 14.35 ล้านล้านบาท ขยายตัว 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน และสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีอยู่ที่ 89% ของจีดีพี เท่ากับไตรมาสก่อน อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของหนี้สินครัวเรือนในช่วงไตรมาส 3/2564 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564 ที่มีอัตราการขยายตัว 5.1% ตามการชะลอตัวของสินเชื่อทุกกลุ่ม

อย่างไรก็ตามในส่วนของหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมที่ 2.89% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 2.92% แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ สัดส่วนหนี้สินค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (SM) ต่อสินเชื่อรวม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในสินเชื่อเกือบทุกประเภท หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 4/2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะหากพิจารณาจากสถานการณ์ที่ผ่านมา จะพบว่า ครัวเรือนที่ไม่เดือดร้อนและมีสินทรัพย์อยู่

สำหรับหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุจาก 1. ครัวเรือนรายได้สูงหรือที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตยังมีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะในสินเชื่อเพื่อยานยนต์ ที่ยอดจองรถจักรยานยนต์และรถยนต์ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2021 ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2564 เกินเป้าหมายที่ 30,000 คัน และสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน และ 2. กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 มีความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพื่อนำมาชดเชยสภาพคล่องจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว

นางสาวจินางค์กูร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามขณะที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด มีความต้องการสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภคเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาชดเชยสภาพคล่องที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ดังนั้น ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การแก้ปัญหาหนี้ให้ตรงความต้องการแต่ละกลุ่ม ได้แก่ การส่งเสริมให้ครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยต้องไม่เกินศักยภาพในการคืนหนี้ รวมทั้งส่งเสริมให้ครัวเรือนมีได้รับการจ้างงานที่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเน้นการยกระดับทักษะแรงงาน

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป คือ 1.การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจที่ต้องเอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมการระบาด โดยมาตรการทางเศรษฐกิจต้องเน้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และเอื้อต่อการฟื้นตัวของกลุ่ม SMEs 2.การขยายตัวของแรงงานนอกระบบที่เพิ่มขึ้นมาก 3. ภาระค่าครองชีพของประชาชน จากระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น และ 4. การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะ/การปรับเปลี่ยนทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและท้องถิ่น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ว่างงานระดับอุดมศึกษาและผู้ว่างงานระยะยาวที่ยังมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง รวมทั้งแรงงานคืนถิ่น เพื่อให้แรงงานสามารถยกระดับหรือปรับเปลี่ยนทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจและท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม อันจะนำมาซึ่งการมีรายได้ที่มั่นคง และช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

นอกจากนั้นในการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังของปี 2564 ลดลง และสถานการณ์สุขภาพจิตมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19ของประชากรวัยเด็ก ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง ไตรมาส4/2564 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง67.9% เป็นการลดลงในทุกโรค นอกจากนี้ สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังมีผู้ที่คิดว่าตนเองกำลังเป็นซึมเศร้ากว่า 46% ที่ละเลยและไม่ทราบแนวทางการจัดการความเครียด และภาวะซึมเศร้าได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันยังต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 ของประชากรวัยเด็ก ซึ่งยังมีสัดส่วนการได้รับวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุและประชากรกลุ่มเปราะบางที่อาจยังไม่ได้รับวัคซีนเพียงพอที่จะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันอย่างเต็มที่ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ควบคู่กับการป้องกันโรคส่วนบุคคล

สำหรับภาพรวมปี 2564 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง 1.8% เนื่องจากมาตรการปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และมาตรการจำกัดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการเฝ้าระวัง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจทำให้ความสามารถในการควบคุมตนเองลดลง และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า รวมทั้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยจะส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

ทั้งนี้ในไตรมาส4/2564 คดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้น43.7% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 โดยคดียาเสพติดเพิ่มขึ้น 49.6% คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ เพิ่มขึ้น 17.9% และคดีชีวิต ร่างกาย และเพศ เพิ่มขึ้น 12.4% ภาพรวมปี 2564 คดีอาญารวมเพิ่มขึ้นจากปี 2563 41.5% จากคดียาเสพติดเพิ่มขึ้น 46.4% สูงสุดในรอบ 8 ปี คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้น18.2% และคดีชีวิต ร่างกายและเพศเพิ่มขึ้น โดยประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง คือ ปัญหายาเสพติด และคดีกระทำผิดผ่านคอมพิวเตอร์